Poj
visit our sponsor
visit our sponsor
Ploy
Mirror Site http://www.geocities.com/thaiparents/













ชีวิตและสุขภาพ > บทความอื่นที่น่าอ่าน

การระวังป้องกันโรคติดต่อที่เกิดระหว่างน้ำท่วม และภายหลังน้ำท่วม

เนื่องจากในฤดูฝนของทุกปี มักมีฝนตกหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน อันเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะน้ำท่วม ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เป็นประจำ และต่อจากนั้นอากาศก็จะหนาวเย็นลง การเปลี่ยนแปลงของดินฟ้าอากาศดังกล่าว อาจเป็นสาเหตุ ทำให้เกิดโรคติดต่อต่างๆ ซึ่งสามารถแพร่ระบาดได้รวดเร็ว

กรมควบคุมโรคติดต่อจึงได้แนะนำให้ทราบถึงโรคติดต่อที่อาจเกิดขึ้น และแพร่ระบาดระหว่างน้ำท่วม และภายหลังน้ำท่วม รวมทั้งวิธีการระวังป้องกันรักษา ดังต่อไปนี้

  1. โรคติดต่อของระบบทางเดินอาหาร
    ได้แก่ โรคท้องเดิน หรือท้องร่วง บิด ไทฟอยด์ อาหารเป็นพิษ อหิวาตกโรค ตับอักเสบ เป็นต้น สาเหตุส่วนใหญ่ เกิดจากการดื่มน้ำ หรือประกอบด้วยน้ำที่ไม่สะอาด หรือน้ำที่มีเชื้อโรคซึ่งปะปนมากับสิ่งปฏิกูลต่างๆ เช่น อุจจาระ ปัสสาวะ ฯลฯ รวมทั้งเกิดจากการรับประทานอาหารที่ไม่สะอาด หรือไม่สุกด้วย โรคติดต่อประเภทนี้ มักจะเกิดขึ้นเป็นประจำ แม้จะไม่อยู่ในภาวะน้ำท่วมก็ตาม

  2. โรคติดเชื้อทางระบบผิวหนัง
    เช่น โรคเลปโตสไปโรซีส ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ที่อยู่ในปัสสาวะหนู หรือสัตว์เลี้ยง ซึ่งปะปนอยู่ในน้ำ ทำให้เกิดเป็นไข้ ตับและไตอักเสบ มีเลือดออกตามอวัยวะต่างๆ โรคติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราตามผิวหนัง เกิดผิวหนังอักเสบ เชื้อมักเข้าสู่ผิวหนังได้ง่ายขึ้น หากมีบาดแผลถูกของมีคมบาด หรือตำ นอกจากนี้ อาจเกิดการแพ้ และอักเสบที่ผิวหนัง เนื่องจากระคายเคืองเมื่อสัมผัสกับน้ำสกปรก และอาจมีการติดเชื้อซ้ำ ทำให้ผิวหนังอักเสบมากขึ้น

  3. โรคระบบทางเดินหายใจ
    ได้แก่ ไข้หวัด เจ็บคอ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ หรือปอดบวม เกิดจากการหายใจเอาเชื้อโรคที่ลอยปะปนอยู่ในอากาศ หรือจากน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วยที่มีเชื้อโรคดังกล่าวเข้าไป ประกอบกับการที่มีสภาวะอากาศอับชื้น และหนาวเย็น ทำให้ร่างกายมีภูมิต้านทานโรคลดต่ำลง จึงมีโอกาสติดเชื้อดังกล่าวได้ง่าย

  4. โรคที่เกิดจากยุงลาย หรือยุงรำคาญจากน้ำเน่าขัง
    โรคที่สำคัญ ได้แก่ โรคไข้เลือดออก ซึ่งเกิดจากยุงลายเป็นตัวแพร่เชื้อ และโรคไข้สมองอักเสบ ซึ่งเกิดจากยุงรำคาญเป็นตัวแพร่เชื้อ ยุงเหล่านี้ชอบเพาะพันธุ์ในน้ำขังนิ่ง แต่ถ้ามีการระบายน้ำ หรือถ่ายเทน้ำได้ จะทำให้ลดปริมาณยุงลงได้มาก

  5. โรคเยื่อตาอักเสบ หรือตาแดง
    โรคเหล่านี้เกิดจากเชื้อไวรัส เชื้ออยู่ในน้ำตา และขี้ตา ติดต่อโดย การสัมผัสใกล้ชิด หรือใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกัน นอกจากนี้ ยังอาจเกิดตาอักเสบ เนื่องจากการใช้น้ำที่ไม่สะอาด ล้างหน้า อาบน้ำ หรือถูกน้ำสกปรกที่มีเชื้อโรคกระเด็นเข้าตา หรือเกิดจากการใช้มือ แขน และเสื้อผ้าที่สกปรก ขยี้ตา หรือเช็ดตา

  6. อันตรายจากสัตว์มีพิษ
    เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง ซึ่งหนีน้ำมาหลบอาศัยในบริเวณบ้าน หรืออุบัติเหตุจากการถูกไฟฟ้าดูด โดยเฉพาะเมื่อสายไฟฟ้า หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าเปียกน้ำ
11 ข้อแนะนำในการระวังป้องกันโรคดังกล่าว มีดังนี้

  1. ล้างมือ ล้างเท้าให้สะอาดทุกครั้งหลังจากเดินย่ำน้ำ หรือถูกน้ำสกปรก แล้วใช้ผ้าที่สะอาดเช็ดให้แห้ง อย่าปล่อยให้อับชื้นเป็นเวลานาน ควรสวมรองเท้ากันน้ำ เมื่อจำเป็นต้องเดินย่ำน้ำ

  2. อย่าใช้มือ แขน หรือผ้าสกปรกขยี้ตา หรือเช็ดตา และระวังมิให้น้ำสกปรกกระเด็นเข้าตา รีบล้างตาด้วยน้ำสะอาดทุกครั้งที่ถูกน้ำสกปรก

  3. ระมัดระวังมิให้เกิดอุบัติเหตุจากการถูกของมีคม และสัตว์มีพิษกัดต่อย โดยการจัดและดูแลบ้านเรือนให้สะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่ปล่อยให้สกปรกรุงรัง อันจะเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์มีพิษ หรือเป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงวันได้

  4. ตรวจดูโอ่งน้ำ หรือภาชนะเก็บน้ำอื่นๆ ให้มีฝาปิดมิดชิด และทำลายแหล่งที่มีน้ำขัง เช่น ในกะลา กระป๋อง ฯลฯ เพื่อมิให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงแพร่โรคได้

  5. หากมีอาการเจ็บป่วย ไม่สบาย หรือผิวหนังเริ่มเปื่อย เกิดตุ่มคัน น้ำกัดเท้า หรือมีบาดแผล ควรทำการรักษาเสียแต่เมื่อเริ่มเป็น ก่อนที่อาการเหล่านั้นจะลุกลามและเกิดโรคแทรกซ้อนขึ้น

  6. รักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ เพื่อให้ร่างกายมีความต้านทานโรค

  7. ดื่มน้ำที่สะอาดทุกครั้ง เช่น น้ำที่ต้มแล้ว หรือน้ำที่ใส่คลอรีน

  8. ล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง และรับประทานอาหารที่สะอาด สุกใหม่ๆ และไม่มีแมลงวันตอม

  9. ถ่ายอุจจาระลงในส้วม หรือในสถานที่ที่อุจาระไม่สามารถลงไปปะปนในแหล่งน้ำได้ และล้างมือให้สะอาดหลังถ่ายอุจจาระ

  10. ตรวจสอบ ซ่อมแซม และย้ายอุปกรณ์ไฟฟ้า รวมทั้งสายไฟฟ้าในบริเวณบ้าน ให้อยู่ในสภาพดี และอยู่ในที่น้ำท่วมไม่ถึง และใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าด้วยความระมัดระวัง

  11. ควรรับการฉีดวัคซีนตามคำแนะนำของแพทย์, เจ้าหน้าที่สาธารณสุข, หรือประกาศของทางราชการ



ข้อมูล: กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข




back





ข่าวสุขภาพ



มุมการกุศล : Charity area


Email Login
Password
New users
sign up!




Home | ข่าวสุขภาพ | การตั้งครรภ์-การคลอด | การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ | ทารกแรกเกิด - ๑ ขวบ
เด็กวัย ๑-๕ ขวบ | Working Mom | การเงินในครอบครัว | สาระน่ารู้ภายในบ้าน | Dad's Corner


maeaom@hotmail.com
Thaiparents.com 2000
All rights reserved