Poj
visit our sponsor
visit our sponsor
Ploy











ข่าวสุขภาพ

ผลักดัน ร.พ.120 แห่งเข้ามาตรฐาน HA



สถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพคาดว่า ปี 2545 จะมีโรงพยาบาลจำนวน 120 แห่งเข้าระบบมาตรฐานคุณภาพ HA และปี 2546 เตรียมประสานกับสำนักประกันสังคมให้ทุกโรงพยาบาลที่อยู่ในระบบต้องมี HA รับรองคุณภาพ ขณะที่นักวิชาการระบุ HA จะกระตุ้นการพัฒนาของร.พ. แต่ปัญหาด้านคุณภาพการรักษาคนไข้ยัง "ถอยหลังเข้าคลอง"

น.พ.อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพ (HA) เปิดเผยว่า ระบบ HA (Hospital Accrediation) คือ การรับรองคุณภาพและรับรองว่า โรงพยาบาลมีความน่าเชื่อถือ หรือเป็นเครื่องหมายการันตีว่า โรงพยาบาลแห่งนี้มีคุณภาพ โดยปัจจุบันมีโรงพยาบาลได้รับการรับรองคุณภาพ (HA) จำนวน 9 แห่ง

อย่างไรก็ตาม ทางสถาบันวางเป้าหมายไว้ว่าในปี 2545 นี้จะมีโรงพยาบาลที่ได้รับการรับรองอีกถึงกว่า 100 แห่ง ซึ่งโรงพยาบาลส่วนใหญ่จะเป็นโรงพยาบาลชุมชน หรือโรงพยาบาลขนาดเล็กที่สถาบันสามารถเข้าไปประเมินและตรวจสอบได้ไม่ยาก

"ตามแผนโรงพยาบาลที่กำลังจะเข้าสู่กระบวนการนี้มี 300 แห่ง โดยปีนี้ได้ร่วมกับกองสาธารณสุขภูมิภาค ให้โรงพยาบาลชุมชน 120 แห่ง เอากระบวนการ HA ไปปรับใช้และร่วมมือกับกองโรงพยาบาลภูมิภาคซึ่งดูแลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป 92 แห่ง คือพวกนี้จะทำไปพร้อมกันอีก 35 แห่ง ให้ผู้บริหารโรงพยาบาลในการมีส่วนร่วมในการกระตุ้นซึ่งกันและกัน

ขณะเดียวกัน จะดำเนินการสร้างเครือข่ายของโรงพยาบาลเอกชนเพื่อช่วยเหลือพัฒนา คือพยายามให้โรงพยาบาลที่มีความสามารถช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

ดังนั้น ผลที่เกิดขึ้นนับจากนี้เป็นต้นไปจะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงกับ 2 กลุ่มหลักคือ สำนักงานประกันสังคมซึ่งกำหนดเป็นนโยบายว่าในปี 2546 โรงพยาบาลที่จะดูแลผู้ป่วยประกันสังคม ทั้งที่เป็นโรงพยาบาลของรัฐและโรงพยาบาลเอกชน ทั้งหมดนี้ต้องมีระบบประกันคุณภาพ

สำหรับกลุ่มที่สองคือ กลุ่มสถาบันแพทย์ศาสตร์ศึกษาแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นการรวมตัวของกลุ่มแพทย์ต่างๆ ที่ตกลงกันว่าปี 2545 โรงเรียนแพทย์ทุกแห่งจะใช้ HA รวมทั้งแพทย์สภาซึ่งดูแลฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน

ทั้งนี้ตามแผนฯ 9 ระบุว่า สิ้นแผนฯ ทุกโรงพยาบาลควรจะได้รับ HA ขณะเดียวกันก็มีการกำหนดในรัฐธรรมนูญหลายมาตรา เพื่อให้เกิดการปฏิรูปของการบริการ ซึ่งขณะนี้โรงพยาบาลเอกชนทั้งหมด 400 แห่ง โรงพยาบาลสังกัดสาธารณสุข 700 แห่ง รวมถึงส่วนราชการอื่นๆ ร่วมกันทำงานเรื่องสุขภาพของประชาชน

ทางด้าน น.พ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ หัวหน้ากลุ่มงานจิตเวชโรงพยาบาลศูนย์เชียงรายประชานุเคราะห์ จังหวัดเชียงราย ในฐานะหนึ่งในทีมผู้ประสานงานกลางระบบ HA วิจารณ์ว่า ระบบ HA ที่โรงพยาบาลได้ศึกษาและดำเนินการตั้งแต่ปี 2540 นั้น เป็นระบบที่มุ่งเน้นการสร้างจิตสำนึกในการบริการของบุคลากรทางการแพทย์ที่มีต่อผู้ป่วย

โดยเฉพาะในเรื่องการบริหารความเสี่ยงอันอาจจะเกิดขึ้นจากการให้บริการด้านสาธารณสุข ซึ่งต้องพยายามลดเรื่องนี้ให้ได้ เพราะส่วนหนึ่งของ HA คือ เรื่องการรับรองความปลอดภัยให้ผู้ป่วย และให้ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางในการรักษาพยาบาล

"ในช่วง 3 ปีที่เรานำมาทดลองใช้ปรากฏว่า คนของเรามีความคิดสร้างสรรค์ และมีการทำงานเป็นทีมมากขึ้นกว่าเดิม" น.พ.ประเสริฐ กล่าว

ส่วนปัญหาของการนำระบบ HA มาใช้ในระยะแรกคือ บุคลากรส่วนใหญ่ของโรงพยาบาลจะบอกว่ามีภารกิจในความรับผิดชอบมากอยู่แล้ว และมักคิดว่าการนำระบบ HA มาใช้ จะเป็นการเพิ่มงานให้มากขึ้น ซึ่งผู้บริหารโรงพยาบาลต้องใช้เวลาพอสมควรในการสร้างความเข้าใจและพัฒนาในเรื่องดังกล่าว

ขณะเดียวกันนักวิชาการด้านสุขภาพ ระบุว่า HA คือกระบวนการพัฒนาคุณภาพของโรงพยาบาล ซึ่งจะเป็นกลไกช่วยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาโรงพยาบาลทั้งองค์กรอย่างมีทิศทางเป็นระบบ

ทว่า ปัญหาคุณภาพของการรักษาผู้ป่วย และการบริการทางแพทย์นั้น คาดว่าจะไม่ได้พัฒนาไปตามระบบ การบริการรักษาผู้ป่วยยังอยู่ในลักษณะ "ถอยหลังเข้าคลอง" เนื่องจากธุรกิจทางการแพทย์ต่างยังมุ่งเน้นแสวงหากำไร คนมีฐานะดีมักได้คุณภาพในการรักษามากกว่าคนยากจนเสมอ


ข้อมูล: ข่าวจากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ





back







Home | ข่าวสุขภาพ | การตั้งครรภ์-การคลอด | การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ | ทารกแรกเกิด - ๑ ขวบ
เด็กวัย ๑-๕ ขวบ | Working Mom | การเงินในครอบครัว | สาระน่ารู้ภายในบ้าน | Dad's Corner


maeaom@hotmail.com
Thaiparents.com 2000
All rights reserved