Poj
visit our sponsor
visit our sponsor

Ploy











ตั้งครรภ์/คลอดบุตร  >
การทำกิ๊ฟคืออะไร
(GIFT : Gamete Intra-Fallopian Transfer)


การนำเซลล์สืบพันธุ์ไปใส่ไว้ที่ท่อนำไข่ หรือที่รู้จักแพร่หลายโดยทั่วไปว่า กิฟท์ (GIFT) หมายถึง การนำเอาไข่และตัวอสุจิไปใส่ไว้ที่ท่อนำไข่เพื่อให้เกิดการปฏิสนธิหรือรวมตัวกันตามธรรมชาติ เป็นวิธีการรักษาคู่สมรสที่มีบุตรยากวิธีหนึ่ง การรักษาคู่สมรสที่มีบุตรยากด้วยกิฟท์นั้นจะกระทำ ต่อเมื่อได้ทำการตรวจหาสาเหตุของการมีบุตรยากและทำการรักษาด้วยวิธีธรรมดาแล้วไม่ได้ผล เพราะการรักษาวิธีนี้ค่อนข้างสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายและเวลาต่างๆ สำหรับการรักษามาก นอกจากนั้น ยังอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างการรักษาได้อีกด้วยแม้ว่าจะเป็นส่วนน้อยก็ตาม



หลักการทำกิฟท์


หลักของการรักษาวิธีนี้ คือนำไข่และอสุจิมารวมกัน และฉีดเข้าท่อนำไข่ โดยผ่านทางปลายของท่อให้มีการปฏิสนธิ การแบ่งตัวของตัวอ่อนและการฝังตัวเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ซึ่งต่างจากการทำเด็กหลอดแก้ว หรือการปฏิสนธินอกร่างกายและการย้ายฝากตัวอ่อน ซึ่งมีการผสมระหว่างไข่และอสุจิ ตลอดจนการแบ่งตัวของตัวอ่อนในห้องปฏิบัติการ แล้วจึงนำตัวอ่อนไปใส่ไว้ในโพรงมดลูก

ในทางเทคนิค ขั้นตอนใหญ่ๆ ของการทำกิฟท์ แบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน ดังนี้

  1. การนำไข่ออกมาจากรังไข่
  2. การเตรียมอสุจิ
  3. การนำไข่และอสุจิมาใส่ไว้ที่ท่อนำไข่
1. การนำไข่ออกมาจากรังไข่

ตามธรรมชาติ รังไข่ประกอบด้วยไข่เล็กๆ เป็นจำนวนมากมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ไข่เป็นเซลล์เล็กๆ เจริญเติบโตภายในถุงรังไข่ ในแต่ละรอบเดือนจะมีฮอร์โมนจากสมองมากระตุ้นให้ถุงไข่เจริญเติบโต ระหว่างการเจริญเติบโตนี้ นอกจากถุงไข่จะมีขนาดใหญ่ขึ้นแล้ว ยังมีการหลั่งฮอร์โมนเพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เอสโตรเจนหรือเอสตราไดออล ถุงไข่จะเจริญเติบโตเต็มที่ก่อนไข่ตก เมื่อถึงเวลาไข่ตก ถุงไข่จะแตกออก ไข่จะหลุดจากถุงไข่และรังไข่เข้าสู่ท่อนำไข่ ปกติแล้วจะมีถุงไข่เพียงถุงเดียวเท่านั้นที่จะเจริญเติบโตเต็มที่จนถึงระยะไข่ตก การเจริญเติบโตของถุงไข่นี้สามารถตรวจสอบได้โดยการวัดขนาดถุงไข่ด้วยเครื่องตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงหรืออัลตร้าซาวด์ การตรวจเลือดหรือปัสสาวะเพื่อหาปริมาณของเอสโตรเจน หรือตรวจดูผลการเปลี่ยนแปลงของอวัยวะต่างๆ ที่มีผลมาจากเอสโตรเจน เช่นการตรวจดูมูกบริเวณปากมดลูกเป็นต้น

การกระตุ้นรังไข่

จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า การที่จะสามารถนำไข่ออกมาจากถุงไข่ได้ดีนั้น ต้องมีการกระตุ้นให้ถุงไข่เจริญเติบโตหลายถุง ซึ่งจะทำให้เก็บไข่ได้หลายใบ ที่สำคัญ คือ การนำไข่หลายใบรวมกับอสุจิไปใส่ไว้ในท่อนำไข่ จะทำให้มีโอกาสตั้งครรภ์สูงกว่าการใส่ไว้เพียงใบเดียว ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องให้ยากระตุ้นถุงไข่ให้เจริญเติบโตหลายถุง โดยอาจเป็นยาชนิดรับประทาน ยาฉีด ยาพ่นเข้าจมูก และอื่นๆ ทั้งแพทย์จะพิจารณาเป็นรายๆ ไป ระยะที่ให้ยากระตุ้นรังไข่นั้น ส่วนมากนานประมาณ 7 ถึง 10 วัน

การตรวจดูการเจริญเติบโตของถุงไข่

ระหว่างการให้ยาจะมีการตรวจสอบดูว่า ถุงไข่มีการเจริญเติบโตหรือไม่ วิธีที่นิยมปัจจุบันนี้คือ การตรวจอัลตร้าซาวด์ และการวัดระดับเอสโตรเจนและฮอร์โมนอื่นในเลือด ในบางขณะการตรวจนี้ต้องกระทำติดต่อกันทุกวัน หากพบว่าการเจริญเติบโตของถุงไข่ไม่ดีเท่าที่ควร ต้องเพิ่มขนาดยาที่ไปกระตุ้นรังไข่ และหากพบว่ารังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไป อาจต้องลดขนาดของยาหรือยกเลิกการรักษาถ้าพบว่าจะเกิดอันตราย การตรวจดูอัลตร้าซาด์สำหรับดูการเจริญเติบโตของถุงไข่ ปัจจุบันนิยมทำโดยการตรวจทางช่องคลอด โดยแพทย์จะสอดเครื่องมือเล็กๆ ผ่านทางช่องคลอดเข้าไป ซึ่งมักไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดแต่อย่างใด

การฉีดยาเอช ซี จี

เมื่อถุงไข่เจริญ แพทย์จะฉีดยาเอชซีจี เพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตของไข่ขั้นสุดท้าย และกำหนดระยะเวลาที่ไข่ตก โดยทั่วไปหลังการฉีดยานี้ ไข่จะตกภายในเวลาประมาณ 36 ถึง 40 ชั่วโมง แพทย์จะทำการกำหนดระยะเวลาฉีดยาให้ผู้ป่วยแต่ละรายตามความเหมาะสม ซึ่งจะพิจารณาจากเวลาที่ทำการเก็บไข่ ส่วนมากต้องฉีดยานี้ตอนกลางคืน ระหว่างเวลาประมาณ 20.00 - 24.00 น.

การเก็บไข่

แพทย์จะนัดผู้ป่วยมาทำการเก็บไข่ภายในเวลา 34 - 38 ชั่วโมงหลังจากฉีดเอชซีจี ระยะเวลานี้มีความสำคัญมาก หากทำการเก็บไข่ช้าเกินไปอาจมีการตกไข่เกิดขึ้นก่อน ทำให้ไม่สามารถเก็บไข่ได้ หือหากเร็วเกินไปอาจเก็บได้ไข่ที่ยังไม่สมบูรณ์พอ ทำให้โอกาสตั้งครรภ์ลดลง วิธีการเก็บไข่ ทำได้โดยใช้เข็มเจาะถุงไข่แล้วดูดเอาไข่ภายในถุงออกมา วิธีที่นิยมในปัจจุบันมี 2 วิธีคือ

  1. การเจาะผ่านผนังช่องคลอด โดยอาศัยเครื่องอัลตร้าซาวด์ ที่มีหัวตรวจทางช่องคลอด ซึ่งมีเข็มเจาะและดูดไข่ติดอยู่ ระหว่างการทำแพทย์จะใช้ยาระงับความเจ็บปวด หรือให้ยาชาเฉพาะที่
  2. การเจาะผ่านทางผนังหน้าท้อง โดยวิธีนี้ต้องอาศัยกล้องตรวจช่องท้อง แพทย์จะเห็นรังไข่ชัดเจน แล้วใช้เข็มเจาะดูดไข่โดยตรง ซึ่งระหว่างการทำแพทย์จะให้ยาระงับความเจ็บปวด หรือให้ยาชาเฉพาะที่ หรือในบางรายอาจต้องวางยาสลบ


เมื่อแพทย์เจาะถุงไข่และดูดน้ำในถุงไข่ออกแล้ว จะส่งไปตรวจหาไข่ทันที จากนั้นจะเก็บไข่ไว้ในน้ำยาที่เหมาะสม โดยทั่วไปโอกาสที่จะเก็บไข่ได้ในแต่ละรอบรักษาจะมีประมาณร้อยละ 90

2. การเตรียมอสุจิ

การเก็บอสุจินั้น ฝ่ายชายจะต้องนำอสุจิมาส่งในวันที่ทำกิฟท์ตามที่แพทย์นัดหมาย สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ

  • การรักษาความสะอาดของอวัยวะเพศให้ปราศจากการอักเสบติดเชื้อใดๆ
  • ควรงดเว้นการมีเพศสัมพันธ์ก่อนการเก็บอสุจิเป็นเวลาอย่างน้อย 2 วัน
  • ทำการเก็บอสุจิด้วยตนเอง โดยก่อนทำต้องล้างมือให้สะอาด ห้ามใช้วิธีร่วมเพศแล้วมาหลั่งภายนอก หรือใช้ถุงยางอนามัย
  • บรรจุอสุจิลงในภาชนะสะอาดที่ปราศจากเชื้อ ซึ่งทางโรงพยาบาลเตรียมไว้ให้
  • นำส่งห้องปฏิบัติการ ตามเวลานัดหมาย


การคัดแยกอสุจิ

เนื่องจากในการทำกิฟท์นั้น จะใช้เฉพาะตัวอสุจิที่ปกติและเคลื่อนไหวได้ดี ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องทำการคัดแยกอสุจิและนำเฉพาะตัวอสุจิที่มีชีวิต และเคลื่อนไหวได้ดีมาใส่ไว้ในน้ำยาที่เหมาะสม การนำไปใส่ไว้ในท่อนำไข่แต่ละครั้งจะใช้อสุจิประมาณ 100,000 ตัว

3. การนำไข่และอสุจิไปใส่ไว้ที่ท่อนำไข่

วิธีการนำไข่และอสุจิไปใส่ไว้ในท่อนำไข่มีหลายวิธี ได้แก่
  1. การใช้กล้องตรวจช่องท้องเช่นเดียวกับที่ทำการเก็บไข่ โดยแพทย์สอดเครื่องมือสำหรับจับท่อนำไข่และใช้ท่อเล็กๆ เจาะผนังหน้าท้องแล้วสอดสายสวนเข้าไปจนถึงท่อนำไข่ จากนั้น ทำการดูดไข่ และอสุจิบรรจุในสายเล็กๆ สอดเข้าไปตามสายสวนจนถึงท่อนำไข่ แล้วทำการฉีดไข่และอสุจิเข้าไป ระหว่างการทำ แพทย์จะให้ยาระงับความเจ็บปวดหรือให้ยาสลบ วิธีนี้เป็นที่นิยมปฏิบัติกันมากที่สุดในปัจจุบัน ขั้นตอนนี้จะใช้เวลาประมาณ 20 - 30 นาที
  2. การผ่าตัดบริเวณหน้าท้องเหนือหัวหน่าว โดยทำการผ่าตัดเล็กๆ เข้าช่องท้อง และนำท่อนำไข่ขึ้นมา จากนั้นจึงฉีดไข่และอสุจิที่เตรียมไว้เข้าท่อนำไข่โดยตรง วิธีนี้ในปัจจุบันนิยมทำลดลง เนื่องจากต้องมีแผลผ่าตัดกว้างวิธีแรก และอาจทำให้มีพังผืดบริเวณอุ้งเชิงกราน นอกจากนี้การทำซ้ำภายหลังหากการทำครั้งแรกไม่สำเร็จจะทำได้ยากขึ้น
  3. การสวนท่อผ่านทางปากมดลูกเข้าไปในโพรงมดลูก และเข้าสู่ท่อนำไข่ โดยอาศัยอัลตร้าซาด์ หรือเครื่องมือตรวจโพรงมดลูก วิธีนี้กำลังอยู่ในระยะการศึกษาวิจัย


back



การปฏิบัติตัวภายหลังการทำกิฟท์


  • ควรงดเพศสัมพันธ์ประมาณ 1 สัปดาห์ภายหลังการทำ
  • ควรพักผ่อน 1 - 2 วัน จากนั้นสามารถทำงานได้ตามปกติ แต่ควรงดการทำงานหนักและการออกกำลังกายที่หักโหม
  • แพทย์จะให้ยาเพื่อช่วยในการฝังตัวของตัวอ่อน ซึ่งอาจเป็นชนิดรับประทานหรือสอดในช่องคลอด
  • ภายหลังการทำกิฟท์ประมาณ 10 - 14 วัน จะสามารถตรวจเลือดดูว่า มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นหรือไม่
  • ในกรณีที่ไม่ประสบผลสำเร็จ จะมีประจำเดือนมาตามปกติ และหากต้องการทำซ้ำ ควรรอเวลาประมาณ 2 - 3 เดือน เพื่อให้รังไข่และระบบต่างๆ ของร่างกายกลับสู่ปกติก่อน


back



ผลการตั้งครรภ์


โอกาสการตั้งครรภ์จากการรักษาด้วยวิธีนี้แตกต่างกันไปในแต่ละสถาบันขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง ที่สำคัญได้แก่ ข้อชี้บ่งของการทำกิฟท์ อายุของคู่สมรส โดยเฉพาะฝ่ายหญิง เทคนิคการทำ และอื่นๆ

โดยทั่วไปการทำกิฟท์แต่ละรอบ จะมีโอกาสตั้งครรภ์ประมาณร้อยละ 20 - 30 อย่างไรก็ดี ในจำนวนผู้ที่ตั้งครรภ์เหล่านี้ จะมีโอกาสแท้งบุตรประมาณร้อยละ 20 ครรภ์แฝดร้อยละ 30 และครรภ์นอกมดลูกร้อยละ 5 - 10 จากข้อมูลจนถึงปัจจุบัน ทารกที่เกิดมามีโอกาสเกิดความพิการไม่แตกต่างกับการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติ และการพัฒนาของเด็กก็เป็นไปตามปกติ

back



คู่สมรสที่เหมาะสมต่อการรักษาด้วยกิฟท์


มีการศึกษาถึงการทำกิฟท์ในคู่สมรส ที่มีสาเหตุของการมีบุตรยากต่างๆ กัน ได้แก่

  • การมีบุตรยากที่หาสาเหตุไม่พบ
  • ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
  • ความผิดปกติที่ปากมดลูก
  • เชื้ออสุจิน้อย
  • ในกรณีที่มีการบริจาคไข่


การรักษาบางกรณีจะได้ผลดี เช่น กรณีของการมีบุตรยากโดยตรวจไม่พบความผิดปกติ ส่วนกรณีก็ได้ผลน้อย เช่น การมีเชื้ออสุจิน้อย เป็นต้น ผู้ที่เหมาะสมที่จะรักษาด้วยกิฟท์ จะต้องมีท่อนำไข่ที่ปกติอย่างน้อยหนึ่งข้างและมีโพรงมดลูกที่ปกติ ซึ่งจะทราบได้โดยการตรวจเอกซ์เรย์ภายหลังจากการฉีดสีเข้าโพรงมดลูก และที่สำคัญอีกอย่างคือ ฝ่ายหญิงที่มารับบริการควรมีอายุไม่เกิน 40 ปี หากมากกว่านี้ การรักษามักไม่ได้ผล พึงระลึกไว้เสมอว่า การรักษาด้วยกิฟท์นี้ ควรกระทำต่อเมื่อการรักษาด้วยวิธีธรรมดาไม่ได้ผลแล้ว ซึ่งอาจทำให้คู่สมรสสามารถตั้งครรภ์ได้ด้วยวิธีง่ายๆ ปลอดภัย และประหยัด

back



สรุปขั้นตอนในการทำกิฟท์


ในทางปฏิบัติ สามารถแบ่งขั้นตอนของการทำกิฟท์ให้ละเอียดดีขึ้นได้ ดังนี้

  1. ทำการศึกษาและสอบถามให้เข้าใจเกี่ยวกับการทำกิฟท์
    โดยศึกษาจากเอกสาร หนังสือต่างๆ หรือสอบถามจากแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่อื่นที่เกี่ยวข้อง

  2. การตรวจและทดสอบก่อนการทำกิฟท์
    โดยแพทย์จะทำการตรวจสอบว่าเหมาะสมต่อการรักษาด้วยวธีนี้หรือไม่ และจะเริ่มทำเมื่อไหร่

  3. การกระตุ้นรังไข่
    โดยแพทย์จะให้ยาซึ่งอาจจะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย

  4. การติดตามการเจิรญเติบโตของถุงไข่
    โดยการตรวจอัลตร้าซาวด์ การตรวจเลือดหาระดับฮอร์โมน และอื่นๆ

  5. การฉีดยาให้ไข่สุกเต็มที่ และการกำหนดเวลาเก็บไข่
    โดยฉีดยาเอชซีจี เมื่อถุงไข่เจริญเต็มที่

  6. การเก็บไข่
    โดยทำการเก็บไข่ประมาณ 34 - 38 ชั่วโมงหลังไข่ตก

  7. การเตรียมอสุจิ
    โดยนำอสุจิส่งห้องปฏิบัติการ ก่อนเก็บไข่ 2 ชั่วโมง เพื่อทำการคัดแยกอสุจิ

  8. การนำไข่และอสุจิไปใส่ไว้ในท่อนำไข่
    โดยนำไข่และอสุจิใส่ในท่อนำไข่ โดยผ่านทางท่อที่เจาะผ่านผนังหน้าท้อง

  9. การให้ฮอร์โมนในระยะหลังการทำกิฟท์
    โดยแพทย์จะให้ฮอร์โมนช่วยในการฝังตัวของตัวอ่อน

  10. การทดสอบการตั้งครรภ์
    โดยสามารถตรวจดูการตั้งครรภ์โดยหาฮอร์โมนในเลือด ประมาณ 12 วันหลังจากการทำกิฟท์ เมื่อมีการตั้งครรภ์ประมาณ 6 - 8 สัปดาห์ แพทย์จะตรวจอัลตร้าซาด์เพื่อดูว่า มีการเจริญเติบโตของทารกหรือไม่ และเป็นครรภ์แฝดหรือไม่



จะเห็นได้ว่า การทำกิฟท์มีหลายขั้นตอน ผู้ป่วยต้องเสียเวบาเดินทางมาฉีดยากระตุ้นรังไข่ และตรวจดูการเจริญเติบโตของถุงไข่ มีการตรวจเลือดและอัลตร้าซาด์บ่อยครั้ง มีการผ่าตัดและอื่นๆ ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการรักษาด้วยวิธีนี้ค่อนข้างสูง

back



ภาวะแทรกซ้อนของการทำกิฟท์ที่อาจเกิดขึ้น
  1. การฉีดยาและการเจาะเลือดเพื่อตรวจระดับฮอร์โมน ซึ่งต้องทำหลายครั้ง อาจทำให้ผู้รับบริการมีอาการเจ็บเล็กน้อย และอาจมีอาการฟกช้ำตรงตำแหน่งที่ฉีดยาและเจาะเลือดได้
  2. ผลของยา ยาที่ใช้กระตุ้นรังไข่ ไม่เคยมีรายงานว่าก่อให้เกิดอาการแพ้ยา อย่างไรก็ดี บางครั้งรังไข่อาจถูกกระตุ้นมากเกินไป ทำให้รังไข่มีขนาดใหญ่ขึ้นมาก ผู้รบบริการอาจมีอาการเจ็บและถ่วงบริเวณท้องน้อยบ้าง บางกรณีซึ่งพบได้น้อยมาก อาจทำให้ผู้รับบริการต้องพักสังเกตอาการภายในโรงพยาบาล
  3. การเก็บไข่ ผู้รับบริการ อาจมีอาการเจ็บปวดบ้าง แต่มักจะไม่มากนัก ส่วนอาการอักเสบของอุ้งเชิงกรานและอันตรายจากเข็มเจาะต่ออวัยวะภายในช่องท้องพบได้น้อยมาก
  4. การนำไข่และอสุจิไปใส่ไว้ในช่องท้อง ผู้รับบริการอาจมีอาการเจ็บบาดแผลเช่นเดียวกับการผ่าตัดเล็กทั่วไป ระหว่างการทำแพทย์จะให้ยาแก้ปวดหรือยาสลบ ภายหลังการทำ ผู้ป่วยบางรายจะรู้สึกอึดอัดและมีอากาแน่นท้อง อาการเหล่านี้มักจะหายไปภายใน 2 - 3 วัน


ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการรักษา

  1. รังไข่ตอบสนองต่อยาไม่ดีพอ ในบางรายแม้ว่าเพิ่มขนาดยามากแล้ว การเจริญของถุงไข่ก็ยังไม่ดี เป็นเหตุให้ต้องยกเลิกการรักษาในรอบนั้น
  2. รังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไป ซึ่งอาจเกิดจากการใช้ยามากเกินไป หรือผู้รับบริการรายนั้นมีความไวต่อยามากเป็นพิเศษ ในกรณีดังกล่าว แพทย์อาจลดขนาดยาหรือยกเลิกการรักษาในรอบนั้น หากพบว่า จะก่อให้เกิดอันตรายต่อคนไข้ได้
  3. เก็บไข่ไม่ได้ ในปัจจุบันวิธีการเก็บไข่ได้พัฒนาดีขึ้นมาก สามารถเก็บไข่ได้ในผู้ป่วยส่วนใหญ่ อย่างไรก็ดี มีบางกรณีที่ไม่สามารถเก็บไข่ได้ ซึ่งมักจะเป็นจากการที่กรุต้นรังไข่ได้ไม่ดีพอ
  4. ไข่ที่เก็บได้ไม่สมบูรณ์ การกระตุ้นไข่และเวลาที่ทำการเก็บไข่ มีความสำคัญอย่างยิ่ง ในบางครั้งไข่ที่เก็บมาได้อาจอ่อนเกินไป หรือสุกเกินไป ซึ่งทำให้ผลสำเร็จของการรักษาลดลง
  5. ปัญหาเกี่ยวกับอสุจิ ในบางกรณีผู้รับบริการอาจมีปัญหาในการเก็บอสุจิ บางรายเกิดความเครียด ตื่นเต้น หรือวิตกกังวล นอกจากนั้นอสุจิที่เก็บมาได้ในวันนั้น อาจมีปริมาณน้อยและไม่แข็งแรงพอ แม้ว่าผลการตรวจอสุจิก่อนหน้านั้น จะอยู่ในเกณฑ์ปกติก็ตาม
  6. ไม่สามารถนำไข่และอสุจิไปใส่ในท่อนำไข่ได้ กรณีนี้อาจเกิดจากการที่มีพังผืดจำนวนมากในอุ้งเชิงกราน ซึ่งควรพิจารณาเปลี่ยนวิธีการรักษา
  7. ไข่และอสุจิอาจไม่ผสมกัน ในกรณีนี้ไม่สามารถพิสูจน์ได้จากการทำกิฟท์ เนื่องจากเป็นวิธีที่นำไข่และอสุจิไปใส่ไว้ในท่อนำไข่ และปล่อยให้มีการผสมรวมตัวกันตามธรรมชาติ ไข่และอสุจิที่พบกันอาจไม่มีการผสมกันก็ได้ด้วยสาเหตุตางๆ กัน เช่น อสุจิไม่แข็งแรงพอที่จะเจาะผ่านเปลือกไข่เข้าไป หรือเกิดภูมิต้านทานระหว่างไข่และอสุจิ เป็นต้น
  8. อาจไม่มีการฝังตัวของตัวอ่อน แม้ว่าไข่และอสุจิจะมีการผสมกัน แต่อาจเกิดปัญการะหว่างการฝังตัวของตัวอ่อนทำให้ไม่เกิดการตั้งครรภ์
  9. อาจเกิดการแท้ง เมื่อมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น ผู้รับบริการจะมีโอกาสแท้งบุตรได้สูงกว่าคนทั่วไปบ้างเล็กน้อยดังกล่าวข้างต้น


สรุปแล้วการนำไข่และอสุจิไปใส่ไว้ที่ท่อนำไข่หรือกิฟท์นั้น เป็นวิธีหนึ่งในการรักษาคู่สมรสที่มีบุตรยาก วิธีนี้เหมาะ สำหรับคู่สมรสบางรายเท่านั้น ไม่ใช่ทุกรายดังกล่าวแล้วว่าขั้นตอนต่างๆ ของการทำกิฟท์นั้น มีมากมาย ต้องอาศัยคณะผู้ทำการรักษาที่มีการประสานงานกันอย่างดี ได้แก่ แพทย์ พยาบาล นักวิทยาศาสตร์ และเจ้าหน้าที่อื่นๆ การรักษาวิธีนี้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมากพอสมควร นอกจากนี้ในแต่ละขั้นตอนของการรักษาอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนและปัญหาดังกล่าวข้างต้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะก่อให้คู่สมรสเกิดความผิดหวัง เสียใจ เครียด หงุดหงิด ซึ่งบางครั้งอาจมีผลเสียต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว ตลอดจนภารกิจประจำวันได้ ในการที่จะลดผลกระทบทางจิตใจเหล่านี้ตลอดจนทำให้การปฏิบัติตนในกรณีที่การรักษาไม่ได้ผลเป็นไปด้วยดี จึงจำเป็นที่คู่สมรสต้องทำความเข้าใจขั้นตอนต่างๆ และผลของการรักษาวิธีนี้เป็นอย่างดี และต้องเตรียมกายเตรียมใจให้พร้อมที่จะเผชิญกับปัญหาต่างๆและความล้มเหลวของการรักษาที่อาจเกิดขึ้นได้ คู่สามีภรรยาและผู้เกี่ยวข้องควรให้กำลังใจซึ่งกันและกัน และหาหนทางที่เหมาะสมแก้ไขปัญหาต่างๆ ดังกล่าว

back

ข้อมูล: จากเอกสารเผยแพร่ความรู้ทางสุขภาพ "การรักษาภาวะมีบุตรยาก กิฟ: การนำเซลล์สืบพันธุ์ไปใส่ที่ท่อนำไข่" โครงการชีววิทยาการเจริญพันธุ์คลินิก ภาควิชาสูติศาสตร์ - นรีเวชวิทยา และศูนย์วิจัย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี







Home | ข่าวสุขภาพ | การตั้งครรภ์-การคลอด | การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ | ทารกแรกเกิด - ๑ ขวบ
เด็กวัย ๑-๕ ขวบ | Working Mom | การเงินในครอบครัว | สาระน่ารู้ภายในบ้าน | Dad's Corner


maeaom@hotmail.com
Thaiparents.com 2000
All rights reserved