Poj
visit our sponsor
visit our sponsor

Ploy














สารบัญ  >
คู่มือปฏิบัติตัวมารดาหลังคลอดและการเลี้ยงดูบุตร
โดย พ.อ.หญิง พวงจันทร์ (วีระไวทยะ) วงศ์วิเศษ


เคล็ดลับการหย่านมแม่อย่างมีความสุข

  • แม่ควรจะหยุดการให้นมแม่เมื่อไร


  • วิธีการหย่านมแม่


  • ปัญหาที่มักเกิดขึ้นกับเต้านมแม่ เมื่อลูกหย่านม


  • วิธีแก้ปัญหาเต้านมคัดตึง



    ปัจจุบันทั่วโลกได้มีการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพราะนมแม่นอกจากจะมีคุณประโยชน์ แก่ลูกแล้วยังประหยัดค่าใช้จ่าย อีกทั้งยังส่งเสริมให้เกิดความรักความอบอุ่นระหว่างแม่ลูกด้วย แต่เมื่อถึงเวลาที่แม่ต้องการจะหยุดให้นมลูกก็มักจะเกิดปัญหาขึ้นมาก และมักมีคำถามเกิดขึ้น เสมอว่า แม่ควรจะหยุดการให้นมเมื่อไร ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละราย โดย อาจพิจารณาได้ดังต่อไปนี้


    แม่ควรจะหยุดการให้นมเมื่อไร


    1. เมื่อลูกอายุ 4 - 6 เดือนขึ้นไป และแม่มีความจำเป็น เช่น แม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน

    2. เมื่อแม่ตั้งครรภ์ลูกคนต่อไป หรือแม่เคยมีประวัติมดลูกหดรัดตัว หรือมีเลือดออกทาง ช่องคลอดในช่วง 1 - 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์

    3. เมื่อแม่มีร่างกายไม่แข็งแรง

    4. เมื่อแม่มีโรคติดต่อ

    5. เมื่อแม่มีภาวะทางเศรษฐกิจ ฐานะต่ำลง ย่อมไม่ได้รับอาหารที่สมบูรณ์ เพราะฉะนั้น น้ำนมแม่จึงไม่มีคุณภาพ ฉะนั้น ควรให้อาหารเสริมเพิ่มจะดีกว่า


    back




    วิธีการหย่านมแม่


    1    ควรเริ่มงดการให้นมในมื้อใดมื้อหนึ่งก่อนเพียง 1 มื้อ แต่ไม่ ควรเป็นมื้อแรกของแต่ละวัน

    2    เตรียมบีบนมแม่ หรือนมผสมใส่ขวด (ถ้าลูกอายุ 1 ปีแล้ว ก็สามารถเลือกนมผสมที่มีไขมันมากได้) ถ้าลูกไม่ยอมดูดจากหัวนมยาง (ขวดนม) ก็อาจใส่แก้วให้ดื่มหรือใช้ช้อนป้อน

    3    ถ้าลูกยอมงดดูดนมแม่ได้ 1 มื้อ ในสัปดาห์ต่อไปก็จะ สามารถงดมื้ออื่นต่อไปได้อีก 1 มื้อ

    4    หากลูกไม่สามารถงดนมแม่ในมื้อต่อไปได้ คุณแม่ก็ควร ให้นมแม่สลับกับนมผสม (นมแม่ 1 มื้อ สลับนมผสม 1 มื้อ)

    5    การงดนมแม่มื้อสุดท้าย คุณแม่ต้องใช้ความเข้มแข็ง ค่อนข้างมาก เนื่องจาก จะมีความรู้สึกอ้างว้าง และเกิดความสูญเสียขึ้นทั้งแม่และลูก

    6    ความยากหรือง่ายของการหย่านมแม่ จะขึ้นอยู่กับอายุของลูก ถ้าลูกอายุยังน้อย การหย่านมจะยาก (ลูกอายุน้อยกว่า 6 เดือน จะหย่านมแม่ได้ยากมาก)

    7    ในช่วงเวลาที่คุณแม่ให้นมลูก ควรจะค่อยๆ ลดเวลาในการให้ ให้น้อยลง ปริมาณน้ำนมแม่ก็จะค่อยๆ ลดน้อยลงในเวลาต่อมาด้วยเช่นกัน

    8    การให้นมผสม ควรให้ในช่วงที่ลูกหิวที่สุด ด้วยกระบอกนมที่มีฝาปิดและมีหัวตั้งขึ้น คล้ายหัวนมแม่ และมีหูสองข้างให้ลูกจับ

    9    พยายามให้บุคคลอื่นให้นมผสมแทนแม่ (ไม่ว่าจะเป็นจากขวด หรือจากกระบอกดื่ม) เพื่อไม่ให้ลูกได้กลิ่นนมแม่

    10    ถ้าลูกดื่มนมผสมจากแก้วเหลือ ให้ผสมกับอาหารเสริมป้อนต่อไปได้

    11    แม่ควรหาโอกาสทำความเข้าใจกับลูก ด้วยการพาไปซื้ออุปกรณ์ในการกินนมของลูก ซึ่งอาจซื้อให้ใหม่โดยให้ลูกเลือกเอง เพื่อทำให้ลูกอยากใช้อุปกรณ์นั้น

    12    แม่ควรพยายามเลิกนั่งในที่เดิมที่เคยให้นมลูก หรือเลิกใส่เสื้อตัวเก่าที่เคยให้นมแก่ลูก

    13    ควรให้ลูกดูรูปเปรียบเทียบระหว่างรูปดูดนมแม่ และรูปดื่มนมจากแก้ว หรือดูดขวดนม หรือตักป้อน และอธิบายให้ลูกเข้าใจว่า ขณะนี้ลูกโตแล้ว ลูกควรจะกินนมแบบไหน

    14    แม่ต้องโอบกอดลูก และจูบลูกมากขึ้นในช่วงนี้ เพื่อลูกจะไม่เกิดความรู้สึกสูญเสียมากนัก

    15    แม่อาจชดเชย โดยการหาของเล่นใหม่ให้ หรือหาขนมที่ลูกใช้มือจับใส่ปากเองได้ เพื่อให้เป็นรางวัล เมื่อลูกดูดนมจากแก้ว หรือขวดสำเร็จ

    16    แม่ต้องเข้มแข็ง ไม่ให้ลูกดูดอวัยวะของตนเองแทนนมแม่ และเพื่อให้ลูกหลับได้อย่างสบาย ก่อนนอนแม่อาจนอนกอดลูกจนกว่าลูกจะหลับ

    17    ก่อนแม่จะเข้านอน ควรปลุกลูกให้ดื่มนมจากแก้ว หรือขวดนมก่อนที่จะให้ลูกนอนต่อ เพื่อที่แม่จะได้มีโอกาสกอดและให้ความอบอุ่นกับลูกจนลูกหลับไป

    18    แม่ควรโอนอ่อนกับลูกบ้าง โดยอาจจะให้ลูกดูดนมแม่บ้างเล็กน้อยก่อนนอน

    19    ในช่วงที่ลูกกำลังหย่านมแม่ ลูกอาจมีความรู้สึกอ้างว้าง นอนผวา และตื่นง่าย ฉะนั้น ก่อนนอน คุณแม่ควรเตรียมนมผสมในปริมาณที่มากพอ หรืออาจให้อาหารเสริมประกอบด้วยก็ได้ และคุณแม่ควรยอมโอนอ่อนให้บ้างในบางครั้งที่ลูกขอ
    back




    ปัญหาที่มักเกิดขึ้นกับเต้านมแม่ เมื่อลูกหย่านม


    ปัญหาที่เห็นได้เด่นชัดที่สุดก็คือ เต้านมที่คัดตึงของคุณแม่ เนื่องจากน้ำนมจะยังคงไหลตามเวลาที่เคยให้นมลูก ส่วนด้านจิตใจ คุณแม่อาจจะซึมเศร้าไปบ้าง แต่จะค่อยๆ ดีขึ้นเอง เมื่อเห็นว่าลูกหย่านมอย่างมีความสุข
    back




    วิธีแก้ปัญหาเต้านมคัดตึง


    1. คุณแม่ควรใส่ยกทรงรัดไว้ หรืออาจจะใช้ผ้ารัดเต้านมก็ได้

    2. เวลาน้ำนมจะมา คุณแม่จะมีความรู้สึกร้อน และซู่ซ่าที่เต้านม ฉะนั้น ก่อนจะถึงเวลาให้นมลูก แม่ต้องบีบน้ำนมทิ้งบ้างเล็กน้อยเพื่อลดความคัดตึง อย่าปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ทำอะไรเลย เพราะจะทำให้เต้านมคัดตึงมากขึ้น

    3. อย่าบีบเค้นนมเพื่อเอาน้ำนมออกมา เพราะจะเกิดการอักเสบของเต้านมได้ง่าย

    4. ควรเช็ดทำความสะอาดหัวนมเบาๆ และบ่อยๆ เนื่องจากขณะน้ำนมมาคั่งที่เต้านมมากๆ จะมีน้ำนมบางส่วนไหลมาที่หัวนม ทำให้มีไขมันของน้ำนมอุดตันที่หัวนม เป็นผลให้ท่อน้ำนมอุดตัน ซึ่งเป็นสาเหตุของการอักเสบของเต้านม

    5. ในช่วงที่เต้านมคัดตึง คุณแม่อาจใช้การประคบเต้านมด้วยความเย็นสลับกับความร้อน เพื่อให้มีการไหลเวียนกลับ และลดจำนวนน้ำนมที่ไหลมาสู่เต้านม

    6. ถ้าสังเกตว่าเต้านมร้อนและแดง ควรปรึกษาแพทย์


    back


    หากปฏิบัติได้ดังที่กล่าวมาข้างต้นนี้ คุณแม่และคุณลูกย่อมได้รับความสุข และความประทับใจที่เกิดจากความยินยอมในการหย่านมของทั้งสองฝ่ายอย่างแน่นอน



    Home | ข่าวสุขภาพ | การตั้งครรภ์-การคลอด | การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ | ทารกแรกเกิด - ๑ ขวบ
    เด็กวัย ๑-๕ ขวบ | Working Mom | การเงินในครอบครัว | สาระน่ารู้ภายในบ้าน | Dad's Corner


    maeaom@hotmail.com
    Thaiparents.com 2000
    All rights reserved