Poj
visit our sponsor
visit our sponsor
Ploy
Mirror Site http://www.geocities.com/thaiparents/
















มุมแม่บ้าน >  สาระน่ารู้คู่เรือน   >


ซื้อรถมือสองอย่างไรไม่ให้ถูกเต้นท์ขายรถเอาเปรียบ

โดย พรชิต ปิยวัฒนเมธา

ผลพวงจากสภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทำให้ผู้ครอบครองรถจำนวนไม่น้อย จำต้องนำรถยนต์ไปขาย หรือฝากขายกับเต้นท์รถ ทั้งๆ ที่ ผู้ครอบครองรถนั้นอาจไม่มีกรรมสิทธิ์ในรถคันที่นำไปขาย เพราะฉะนั้น ก่อนที่ท่านจะตัดสินใจซื้อรถมือสอง นอกจากตรวจสภาพของรถยนต์เป็นที่น่าพอใจแล้ว ผู้ซื้อต้องขอดูสมุดทะเบียนรถยนต์ที่จะซื้อจากเต้นท์ด้วยว่าใครเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถที่ขาย มิเช่นนั้นแล้วจะต้องเสียใจภายหลัง จนถึงขั้นฟ้องร้องกันได้

กรณีที่ผู้ครอบครองรถเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์จริง เวลาที่เต้นท์รถรับซื้อ ส่วยใหญ่จะให้เจ้าของเซ็นเอกสารโอนลอยไว้เพื่อให้เต้นท์รถถือเอกสารดังกล่าวไว้ขายต่อให้กับผู้ซื้อ แล้วจึงโอนกรรมสิทธิ์ให้ผู้ซื้อภายหลัง กรณีนี้ถือว่าไม่เสียหายอะไร เพียงแต่เต้นท์รถหลีกเลี่ยงการเสียอากรแสตมป์โอน 2 ต่อให้กับกรมการขนส่งทางบก ซึ่งเป็นเรื่องที่กรมสรรพากรควรเข้ามาดูเอง

ส่วนกรณีที่ผู้ครอบครองรถเป็นเพียงผู้เช่าซื้อของบริษัทเงินทุน หรือบริษัทลีสซิ่งใดบริษัทหนึ่ง เรียกกันว่า "รถติดไฟแนนซ์" ส่วนใหญ่เป็นพวกค้างชำระค่างวดแล้วหลบหลีกการติดตามของไฟแนนซ์มาตลอด พวกนี้จะนำรถยนต์ที่ครอบครองไปขายให้เต้นท์รถ ซึ่งเต้นท์รถจะรับทราบการติดไฟแนนซ์ดี แต่ก็ยินดีรับซื้อไว้ในราคาต่ำมากๆ เพราะรู้ว่าเป็นของร้อน จากนั้นเต้นท์รถจะนำรถคันนี้ออกขายแก่ประชาชนทั่วไป โดยไม่แจ้งข้อเท็จจริงให้แก่ผู้ซื้อทราบว่า เป็นรถติดไฟแนนซ์ ผู้ซื้อโดยทั่วไปก็ไม่ได้ขอดูสมุดทะเบียนรถยนต์ และหลงเข้าใจผิดว่าทำสัญญาซื้อขายกับเต้นท์รถแล้วก็เสร็จสมบูรณ์ หลังจากนั้นผู้ซื้อก็จะต้องเสียเวลามาคอยติดตามทวงถามสมุดทะเบียนรถยนต์จากเต้นท์รถ ซึ่งเต้นท์รถจะอ้างเหตุติดขัดต่างๆ นานา เพื่อซื้อเวลาไปเรื่อยๆ บางเต้นท์รถที่มีจริยธรรมหน่อยจะรีบมาปิดบัญชีกับไฟแนนซ์เพื่อทำการโอนกรรมสิทธิ์ให้ผู้ซื้อ แต่ส่วนใหญ่จะไม่ดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้น ปัญหาจึงตกอยู่กับผู้ซื้อรถมือสองจากเต้นท์รถ ดังนี้

  1. ผู้ซื้อรถเสียหายทั้งขึ้นทั้งล่อง โดยได้จ่ายเงินสดซื้อรถยนต์จากเต้นท์รถแล้ว ยังเสี่ยงต่อการถูกยึดรถจากไฟแนนซ์อีก เพราะกรรมสิทธิ์ในตัวรถยังเป็นของไฟแนนซ์ ซึ่งผู้เช่าซื้อ เดิมผิดสัญญา ไม่ชำระค่างวด ตามกำหนด

  2. แม้รถที่ซื้ออาจยังไม่ถูกยึด แต่ผู้ซื้อจะไม่มีกรรมสิทธิ์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากเต้นท์รถไม่ได้ไปดำเนินการปิดบัญชีกับไฟแนนซ์เพื่อโอนให้ผู้ซื้อ ผู้ซื้อจึงยังคงมีความเสี่ยงต่อการได้กรรมสิทธิ์ในสมุดทะเบียนรถยนต์

  3. ในระหว่างที่เต้นท์รถยังไม่มาปิดบัญชีกับไฟแนนซ์ หากผู้เช่าซื้อเดิมเสียชีวิตลง คู่สัญญาของไฟแนนซ์จะเปลี่ยนจากผู้เช่าซื้อเดิมเป็นกองมรดก ทีนี้ยุ่งไปใหญ่ หากกองมรดกจะเรียกร้องสิทธิ์ตามสัญญาเช่าซื้อ กว่าจะแก้ปัญหาได้จบ ผู้ซื้อรถคงเข็ดไปตลอดชีวิต

ข้อแนะนำแก่ผู้ซื้อรถมือสองจากเต้นท์รถ มีดังนี้

  1. ควรตัดสินใจซื้อรถมือสองจากเต้นท์รถที่มีชื่อเสียงดี และประกอบธุรกิจมานานพอสมควรแล้ว

  2. ก่อนชำระค่าซื้อ ต้องขอดูสมุดจดทะเบียนรถยนต์จากเต้นท์รถเพื่อให้แน่ใจว่า เป็นรถที่ได้จดทะเบียนและมีกรรมสิทธิ์ถูกต้อง

  3. ถ้าสมุดทะเบียนระบุชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์เป็นบริษัทเงินทุน หรือบริษัทลีสซิ่ง ผู้ซื้อต้องยืนยันกับเต้นท์รถให้มาปิดบัญชีกับไฟแนนซ์พร้อมกับตนเอง และชำระค่าเช่าซื้อให้แก่เต้นท์รถเมื่อได้รับการยืนยันจากไฟแนนซ์ว่าได้ปิดบัญชีแล้ว และถ้าจะให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น ผู้ซื้อยอมเสียค่าบริการเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย มอบหมายให้ไฟแนนซ์ช่วยทำการโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ตนเองอีกต่อหนึ่ง และมาขอรับสมุดทะเบียนจากไฟแนนซ์เองภายหลังจะเป็นวิธีที่รอบคอบดีที่สุด

  4. ในกรณีผู้ซื้อประสงค์จะผ่อนชำระค่างวดต่อจากผู้เช่าซื้อเดิมที่เรียกกันว่า "ซื้อเงินดาวน์" ผู้ซื้อต้องยืนยันกับเต้นท์รถให้นัดผู้เช่าซื้อเดิมไปดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ในสัญญาเช่าซื้อให้ถูกต้องกับไฟแนนซ์ทันที มิฉะนั้นจะประสบกับปัญหาผ่อนชำระหมดแล้ว กลับไม่ได้รับกรรมสิทธิ์ในรถยนต์เพราะคู่สัญญาของไฟแนนซ์ยังเป็นชื่อผู้เช่าซื้อเดิมอยู่ ซึ่งไฟแนนซ์ต้องโอนกรรมสิทธิ์ให้กับคู่สัญญาเช่าซื้อที่ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น




ข้อมูลจาก: จุลสารเช่าซื้อ ฉบับที่ 2 เดือนตุลาคม - เดือนพฤศจิกายน 2544 สมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย (Thai Hire-Purchase Association)

back








Home | ข่าวสุขภาพ | การตั้งครรภ์-การคลอด | การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ | ทารกแรกเกิด - ๑ ขวบ
เด็กวัย ๑-๕ ขวบ | Working Mom | การเงินในครอบครัว | สาระน่ารู้ภายในบ้าน | Dad's Corner


maeaom@hotmail.com
Thaiparents.com 2000
All rights reserved