- เครื่องปรับอากาศ
- ขับรถตอนกลางคืน
สุขภาพของคุณแม่ระหว่างตั้งครรภ์
Top

1. ทำไมคุณควรงดสูบบุหรี่ระหว่างตั้งครรภ์

2. แอลกอฮอล์จำนวนเท่าไหร่ จึงจะนับว่าปลอดภัยในขณะที่คุณกำลังตั้งครรภ์

3. ยาบางชนิดจะเป็นอันตรายต่อทารกหรือไม่

4. การติดสารเสพติดจะเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์หรือไม่

5. อาหารชนิดใดบ้างที่ไม่ปลอดภัยขณะตั้งครรภ์

6. การติดเชื้อจากสัตว์ชนิดใดบ้างที่เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์

7. ทำงานต่อไปได้นานแค่ไหนจึงจะขอ "ลาคลอด"

8. ปลอดภัยไหม ถ้าจะเดินทางในระหว่างตั้งครรภ์

9. ต้องฉีดวัคซีนเมื่อต้องเดินทางไปประเทศอื่นไหม

10. เพศสัมพันธ์ยังคงดำเนินไปได้นานแค่ไหนในระหว่างการตั้งครรภ์

11. จะลดความเครียดในช่วงตั้งครรภ์ได้อย่างไร

12. ออกกำลังกายแค่ไหนจึงจะปลอดภัย



ทำไมคุณควรงดสูบบุหรี่ระหว่างตั้งครรภ์

เมื่อคุณสูดควันบุหรี่ สารนิโคตินและคาร์บอนมอนอคไซด์จะผ่านเข้าไปในปอดและกระแสเลือด สิ่งเหล่านี้จะผ่านเข้าไปสู่เลือดของทารกด้วยเช่นกันโดยผ่านทาง "รก" นอกจากจะมีพิษแล้ว สิ่งเหล่านี้ยังสามารถทำให้ทารกได้รับออกซิเจนและสารอาหารน้อยลง ซึ่งมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารกอย่างยิ่ง จากการศึกษาและวิจัยพบว่า แม่ที่ตั้งครรภ์และสูบบุหรี่ มักจะคลอดบุตรออกมามีน้ำหนักตัวน้อย นอกจากนั้นยังเสี่ยงต่อการแท้งบุตร, ทารกตายขณะอยู่ในครรภ์ หรือตายหลังคลอด ดังนั้นหากคุณเลิกสูบบุหรี่ได้เร็วเท่าไหร่ จะเป็นการดีต่อลูกของคุณเองมากขึ้นเท่านั้น ลองติดต่อ Quit Line (โทรศัพท์: 1600) เพื่อขอคำแนะนำในการเลิกสูบบุหรี่ และคุณควรหลีกเลี่ยงการสูดควันบุหรี่จากผู้อื่นทั้งก่อนและหลังคลอดบุตร
Back


แอลกอฮอล์จำนวนเท่าไหร่ จึงจะนับว่าปลอดภัยในขณะที่คุณ
กำลังตั้งครรภ์


คุณแม่ที่เป็นนักดื่มตัวยงและยังคงดื่มหนักในขณะที่กำลังตั้งครรภ์ สามารถทำให้ทารกในครรภ์เป็นโรค Fetal Alcoholic Syndrome (กลุ่มอาการที่ทำให้ร่างกายและจิตใจเด็กไม่สมประกอบ) ซึ่งอาจทำให้ทารกเสียชีวิตได้ในช่วงสัปดาห์แรกหลังคลอด ถึงแม้คุณจะดื่มแค่ปานกลางก็ยังมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของทารก หรืออาจทำให้เกิดการแท้งบุตร โดยเฉพาะถ้าคุณแม่รับประทานอาหารไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย จริงๆ แล้วเรายังไม่ทราบแน่ชัดว่าควรจะดื่มแอลกอฮอล์เท่าไหร่จึงจะปลอดภัยในระหว่างการตั้งครรภ์ ผู้เชี่ยวชาญหลายรายแนะนำว่า ดื่มได้วันละ 1 ยูนิตหรือน้อยกว่า ยังถือว่าปลอดภัย และบางรายแนะนำว่า คุณแม่นักดื่ม ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์เกิน 1-2 ยูนิตต่ออาทิตย์

แอลกอฮอล์ 1 ยูนิต มีปริมาณ ดังนี้ค่ะ
  • เบียร์, เบียร์สด หรือไซเดอร์ จำนวน ครึ่งไปน์ (1 แก้วเล็ก)
  • หรือ เหล้าพวกวิสกี้, ยิน ตวงเพียวๆ จำนวน 1 เป็ก
  • หรือ เหล้าเชอรี่แก้วเล็กๆ
  • หรือ ไวน์ 1 แก้วไวน์เล็ก
  • หรือ เหล้า (Liquor) 1 เป็ก

  • หันมาดื่มน้ำผลไม้แทนดีกว่านะคะ Back


    ยาบางชนิดจะเป็นอันตรายต่อทารกหรือไม่

    ยาบางชนิดถือว่าเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลที่ว่าเหตุใดคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์จึงถูกห้ามไม่ให้รับประทานยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน และคุณควรระมัดระวังการทานยาที่หาซื้อได้เองตามร้านขายยาทั่วไป เช่นยาแก้ปวด, ยาแก้หวัด, ยาช่วยย่อยอาหาร และสมุนไพรยาจีนต่างๆ ควรบอกเภสัชกรที่ขายยาว่า คุณกำลังตั้งครรภ์ และหากคุณไปหาแพทย์ทั่วไปควรแจ้งคุณหมอว่า คุณกำลังตั้งครรภ์ด้วยเช่นกัน (ถ้าอยู่ในระยะที่ครรภ์ยังมองไม่ค่อยออก)

    แต่อย่าหยุดทานยาที่แพทย์ประจำตัวให้คุณเพื่อใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง, เบาหวาน หรือโรคลมชักโดยไม่ปรึกษาแพทย์ ผลกระทบจากการหยุดยาเหล่านี้กระทันหันอาจให้โทษมากกว่าผลกระทบจากตัวยา ควรปรึกษาแพทย์เรื่องยาที่คุณกำลังทานอยู่ ทันทีที่ประจำเดือนของคุณขาดหายไป (หรือเมื่อคุณวางแผนที่จะตั้งครรภ์) Back


    การติดสารเสพติดจะเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์หรือไม่

    เป็นอันตรายอย่างแน่นอน!! สารเสพติดทุกชนิด เช่น โคเคน, กัญชา, เฮโรอีน, ยาบ้า,ยาอี, แอมเฟตตามีนส์และอื่นๆ สามารถทำให้คุณแท้งบุตร หรือทารกตายขณะอยู่ในครรภ์ (Stillbirth) ได้ หรือมิฉะนั้นลูกของคุณจะเกิดมาโดยมีอาการติดสารเสพติดไปด้วยและมีภาวะถดถอย เช่นเป็นโรคท้องร่วง, อาเจียน และโรคชัก

    คุณควรบอกแพทย์ที่คุณฝากครรภ์ให้แนะนำคุณไปที่สถานบำบัดผู้ติดยาเสพติด หรือแนะนำผู้เชี่ยวชาญในการบำบัดยาเสพติดเพื่อช่วยเหลือคุณเป็นกรณีเร่งด่วน ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในขณะที่กำลังตั้งครรภ์ Back


    อาหารชนิดใดบ้างที่ไม่ปลอดภัยขณะตั้งครรภ์

    ในช่วงตั้งครรภ์ ระบบป้องกันเชื้อโรคในร่างกายจะมีประสิทธิภาพลดลง ทำให้คุณเกิดการติดเชื้อได้ง่าย แบคทีเรียที่เป็นโทษสามารถผ่านเข้าสู่ร่างกายคุณโดยทางอาหาร เช่น Listeria (ในอาหารที่ทำจากนมที่ไม่ได้ผ่านการพาสเจอร์ไรเซอร์), Salmonella (จากไข่และไก่ที่ติดเชื้อ), Toxoplasmosis (จากเนื้อสัตว์ดิบ)

    ดังนั้นคุณแม่ควรหลีกเลี่ยงอาหาร ดังต่อไปนี้
  • เนื้อสัตว์ดิบต่างๆ รวมทั้ง ไก่ที่ยังไม่สุกดี หรือสุกครึ่งๆ กลางๆ
  • ไข่ดิบ และอาหารที่ผสมไข่ดิบ หรือยังไม่สุกดี
  • นมแพะ, นมวัวที่ไม่ผ่านการพาสเจอร์ไรเซอร์
  • ผักสดและผลไม้ที่ล้างไม่สะอาด


  • นอกจากนั้น ควรเพิ่มความระมัดระวังในสิ่งต่อไปนี้
  • ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร
  • อุ่นอาหารเสมอเมื่อไม่แน่ใจว่าอาหารนั้นสุกดีพอหรือยัง
  • แยกเก็บเนื้อดิบและเนื้อที่ปรุงแล้วไว้คนละชั้น หรือคนละส่วนกันในตู้เย็น
  • อย่ารับประทานอาหารที่เลยวันที่กำหนดไปแล้ว
  • Back


    การติดเชื้อจากสัตว์ชนิดใดบ้างที่เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์

    โรค Toxoplasmosis: (พบมากในต่างประเทศ) ทำให้มีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะเป็นอันตรายต่อสมองของทารกและอาจทำให้ทารกตาบอด ถ้าผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ได้รับเชื้อนี้เป็นครั้งแรกและไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง นอกจากจะเป็นอันตรายต่อผู้ใหญ่และเด็กที่ปกติมีสุขภาพดีแล้วยังมีผลให้ต้องฉีดวัคซีนไปตลอดชีวิต การติดเชื้ออาจเกิดจากการได้รับไข่ของ Parasite ที่อยู่ในเนื้อวัวดิบหรือไม่สุกดีพอ, ดินตามสนามหญ้า, ผักสด/ผลไม้ที่ล้างไม่สะอาด, ของเสียจากแมว, สุนัข (ขณะที่คุณเก็บของเสียพวกนี้ไปทิ้งแล้วล้างมือไม่สะอาด)

    จากผลการตรวจเลือด โดยปกติควรจะเป็นในระยะต้นๆ ของการตั้งครรภ์ สูติแพทย์จะบอกได้ว่าคุณต้องรับการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อหรือไม่ บางกรณีการติดเชื้อครั้งที่ผ่านมาของคุณอาจช่วยให้ร่างกายของคุณมีภูมิต้านทานและทำให้ทารกปลอดภัย แต่ถ้าคุณไม่ได้รับการฉีดวัคซีนและมีอาการโรค Toxoplasmosis คือมีไข้, ต่อมน้ำเหลืองบวม, ปวดศีรษะ, เจ็บคอ, ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ คุณควรรีบติดต่อแพทย์ทันที

    โรคพยาธิ Toxocariasis: เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก แต่มีผลทำให้ทารกตาบอด เป็นผลจากพยาธิตัวกลมซึ่งอาจผ่านจากอุจจาระของแมวและสุนัขที่ไม่ได้รับการถ่ายพยาธิเป็นประจำ ทั้งนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการรักษาความสะอาดอยู่เสมอ โดยเฉพาะการล้างมือก่อนการรับประทานอาหาร และควรจับสัตว์เลี้ยงในบ้านถ่ายพยาธิเป็นประจำBack


    ทำงานต่อไปได้นานแค่ไหนจึงจะขอ "ลาคลอด"

    หากคุณแม่ตั้งครรภ์ในขณะที่ยังทำงานนอกบ้าน โดยปกติสามารถทำงานต่อไปได้เรื่อยๆ จนกระทั่งถึงวันครบกำหนดคลอด แต่เนื่องจากกฎหมายแรงงานของไทยอนุญาตให้ลาคลอดได้สูงสุด 90 วันนับจากวันที่เริ่มลาคลอด โดยไม่กำหนดว่าจะต้องเริ่มวันลาคลอดเมื่อไหร่ คุณแม่ไทยทั้งหลายที่ต้องการจะอยู่กับลูกหลังจากคลอดแล้วนานๆ จึง(ทน)ทำงานไปเรื่อยๆ จนกว่าร่างกายจะไม่ไหว เช่น มือ เท้าบวม, เพลีย อยากพักผ่อน, รู้สึกหนักท้อง/อุ้ยอ้าย จึงจะเริ่มลาคลอด ซึ่งส่วนมากมักจะเป็น 1-2 อาทิตย์เท่านั้นก่อนวันครบกำหนดคลอด บางรายพอท้องที่สองหรือสาม เริ่มปรับตัวได้ อาจทำงานไปเรื่อยๆ ลาคลอดแค่ 2 - 3 วันก่อนคลอดก็มี (คุณแม่ที่อยู่ในประเทศยุโรปฟังแล้ว อย่าตกใจค่ะ) แต่ถ้าคุณมีวันพักร้อนเหลือจะนำมาลาเพิ่มด้วยก็ได้ Back


    ปลอดภัยไหม ถ้าจะเดินทางในระหว่างตั้งครรภ์

    การเดินทางในระหว่างการตั้งครรภ์นั้นโดยปกติถือว่าปลอดภัย อย่างไรก็ตามคุณควรเช็คกับแพทย์ที่คุณฝากครรภ์ด้วย หากคุณมีแผนที่จะเดินทางในระยะเดือนสุดท้ายก่อนวันครบกำหนดคลอด สำหรับการเดินทางไปต่างประเทศนั้น สายการบินส่วนใหญ่มีกฎที่จะไม่รับผู้หญิงตั้งครรภ์ซึ่งจะครบกำหนดคลอดใน 4 สัปดาห์ให้โดยสารเครื่องบิน ส่วนอุปกรณ์ตรวจจับอาวุธที่ใช้ตรวจเช็คเพื่อความปลอดภัยที่สนามบิน ไม่เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ การเดินทางโดยเครื่องบินในระยะตั้งครรภ์อ่อนๆ นั้นก็เสี่ยงกับการแท้งเหมือนกันเพราะร่างกายยังไม่ชินกับการความกดอากาศที่เปลี่ยนแปลงบนเครื่อง ช่วงที่คุณสามารถเดินทางได้อย่างสบายๆ จึงควรเป็นในช่วงอายุครรภ์ไตรมาสที่ 2-3 (สัปดาห์ที่ 16 -34) เมื่อร่างกายคุณปรับตัวเข้ากับสภาวการณ์ตั้งครรภ์ได้แล้วและมีกำลังวังชาดีขึ้น
    Back


    ต้องฉีดวัคซีนเมื่อต้องเดินทางไปประเทศอื่นไหม

    ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะเดินทางไปประเทศไหน และประเทศนั้นๆ มีเชื้อโรคที่เป็นอันตรายมากน้อยเพียงใด คุณควรปรึกษาคุณหมออย่างน้อย 2 เดือนก่อนการเดินทาง วัคซีนบางชนิดถือว่าไม่ปลอดภัยต่อสตรีมีครรภ์ แต่อาจฉีดให้ถ้าต้องเดินทางไปประเทศที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคสูง ทั้งนี้รวมถึงการป้องกันโรคโปลิโอ, ไข้เหลือง, ไทฟอยด์, กาฬโรค และตับอักเสบบี (Hepatitis B) อย่างไรก็ดีต้องกระทำในอายุครรภ์ที่เกิน 8 สัปดาห์ไปแล้ว มิฉนั้นจะเป็นการไปรบกวนกระบวนการสร้างอวัยวะของทารก

    องค์การอนามัยโลก (World Health Organisation) แนะนำว่าผู้หญิงมีครรภ์และเด็กอายุน้อยๆ ไม่ควรเดินทางไปในถิ่นประเทศที่ยังคงมีโรคอหิวาตกโรคและมาเลเรียอยู่ Back


    เพศสัมพันธ์ยังคงดำเนินไปได้นานแค่ไหนในระหว่างการตั้งครรภ์

    โดยปกติ คู่สามีภรรยาทั่วไปยังคงมีเพศสัมพันธ์กันได้จนกระทั่งช่วงใกล้คลอด จริงๆ แล้วถ้าทารกพร้อมที่จะคลอด การมีเพศสัมพันธ์อาจช่วยให้การเจ็บท้องคลอดเริ่มต้นได้ เนื่องจากในสเปิร์มของเพศชายมีสารเคมีคล้ายฮอร์โมนเรียกว่า Prostaglandins ซึ่งอาจไปกระตุ้นให้เกิดการเจ็บท้องที่จะเริ่มต้นคลอด

    หญิงมีครรภ์ควรหลีกเลี่ยงหรืองดการมีเพศสัมพันธ์ ถ้ามีอาการดังนี้
  • เคยแท้งบุตรในช่วงระยะต้นๆ ของการตั้งครรภ์
  • มีเลือดออกทางช่องคลอด
  • ช่องคลอดมีการติดเชื้อ ตกขาวมาก คัน เหม็น
  • มีอาการปวดท้องหรือเจ็บกระดูกเชิงกราน
  • มีอาการเจ็บท้องคลอดในระยะก่อนครบกำหนดคลอด
  • ถุงน้ำคร่ำแตก หรือมีน้ำคร่ำใสๆไหลซึมออกมาเปียกต้นขา
  • Back


    จะลดความเครียดในช่วงตั้งครรภ์ได้อย่างไร

    ในการท้องครั้งแรก ผู้หญิงส่วนใหญ่จะเป็นกังวลเกี่ยวกับการเจ็บท้องคลอดว่าจะยาวนานแค่ไหน, เจ็บมากน้อยแค่ไหน ซึ่งเป็นเรื่องปกติค่ะ สำหรับความรู้สึกนี้ คุณแม่ควรหาทางพูดคุยความกังวลนี้กับสามีของคุณ หรือเพื่อนสนิท หรือคุณแม่ของคุณเอง เพื่อที่ว่าคุณจะได้ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว ถ้าจิตใจคุณเป็นกังวลมาก คุณหมอบางคนอาจแนะนำให้คุณปรึกษาจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยาเพื่อช่วยเหลือคุณ

    หนึ่งในหลายวิธีที่จะช่วยลดความเครียด คือควรเรียนรู้ที่จะผ่อนคลายความตึงเครียด เช่น ฟังเพลงจากเทป, ซีดี หรือจากรายการวิทยุต่างๆ เช่น 95.5 FM, (เพลงบางประเภทเช่น Litemusic, Classic หรือเพลงฟังสบายๆ ก็มีส่วนช่วยในการพัฒนานิสัยและอารมณ์ของทารกของคุณด้วย) การอ่านนิยายสนุกๆ, ต่อจิกซอว์, เดินออกกำลังกาย, ว่ายน้ำ (อย่าหักโหม), ไปดูหนัง, ดูละครเวที, ฝึกนั่งสมาธิ หรือฝึกออกกำลังกายตาม class อบรมครรภ์คุณภาพ ก็จะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้คุณรับมือกับการเจ็บท้องคลอดได้มาก Back


    ออกกำลังกายแค่ไหนจึงจะปลอดภัย

    การออกกำลังกายเบาๆตามปกติ ถือเป็นเรื่องปลอดภัยและมีประโยชน์สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ เพราะการออกกำลังกายช่วยในเรื่องการไหลเวียนของเลือด, ช่วยให้กล้ามเนื้อเชิงกรานมีความยืดหยุ่น กระชับ, ช่วยให้คลอดบุตรได้ง่าย หรืออย่างน้อยก็ช่วยลดอาการข้างเคียงต่างๆ ยามตั้งครรภ์ เช่นท้องผูกและการอ่อนเพลีย ฯ

    แต่ถ้าคุณมีปัญหาทางสุขภาพ หรือคุณมีท้องแฝด ควรตรวจสอบกับคุณหมอเสียก่อนที่จะเริ่มออกกำลังกายเอง ช่วงที่ตั้งครรภ์ไม่ใช่ช่วงที่คุณจะสามารถออกกำลังกายได้ทุกอย่างตามต้องการดังที่เคยปฏิบัติมา เพียงแต่ออกกำลังกายเบาๆ ได้ตามสมควรเท่านั้นค่ะ

    คุณอาจขี่จักรยานและว่ายน้ำได้หากคุณเคยออกกำลังด้วยวิธีนี้ และคุณรู้สึกว่าคุณทำได้และคุณหมอก็อนุญาตแล้ว

    กุญแจสำหรับความปลอดภัยและรู้สึกเป็นสุขคือ การฟังเสียงจากร่างกายของคุณ อย่าหักโหมออกกำลังกายถ้าคุณรู้สึกหมดแรง และคุณควรพักทันทีที่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย หรือมีอาการท้องเกร็ง เจ็บครรภ์ขึ้นมาBack



    ขอขอบคุณ นพ.วรายุต สถิตย์เสถียร (พ.บ. ว.ว.- สูตินรีเวช)
    ในความกรุณาให้คำแนะนำและตรวจทาน
    http://www.geocities.com/varayudt/



    visit our sponsor
    visit our sponsor


    Home | ข่าวสุขภาพ | การตั้งครรภ์-การคลอด | การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ | ทารกแรกเกิด - ๑ ขวบ
    เด็กวัย ๑-๕ ขวบ | Working Mom | การเงินในครอบครัว | สาระน่ารู้ภายในบ้าน | Dad's Corner


    maeaom@hotmail.com
    Thaiparents.com 2000
    All rights reserved