








|
 |
พ่อคือบุคคลสำคัญของบ้าน
พ่อมีอิทธิพลต่อการกำหนดบุคลิกภาพวุฒิภาวะทางอารมณ์ ความมั่นคงทางจิตใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นแบบอย่างลักษณะความเป็นชายให้กับลูกชาย พ่อจะมีอิทธิพลอย่างสูงต่อการเลือกคู่ครองของลูกสาวในอนาคต พ่อเป็นแบบอย่างในเรื่องความกล้าหาญ ความรับผิดชอบ การทำงานหนัก การใช้เหตุผล ให้คำปรึกษาแนะนำ ชักจูง ช่วยเหลือให้ลูกค้นพบตัวเองและรู้ว่าศักยภาพของตัวเองอยู่ตรงไหน คอยให้กำลังใจ ส่งเสริมการเรียนรู้ของลูกด้วยการปล่อยให้ลูกได้แก้ปัญหาเอง นอกจากพ่อจะมีความสำคัญต่อลูกแล้ว พ่อก็คือบุคคลสำคัญของแม่ด้วย
บทบาทพ่อไทยในยุค 2000
พาภรรยาไปฝากครรภ์ ประคับประคอง และให้ความเอื้ออาทร เพื่อให้ภรรยามีสุขภาพจิตที่ดี
ช่วยแบ่งเบาภาระในการทำงานบ้านและเลี้ยงลูก เช่น เปลี่ยนผ้าอ้อมให้ลูก อาบน้ำให้ลูก ทำกับข้าวให้ลูก เอาลูกเข้านอน ดูลูกและโอ๋ลูก เช่น เดียวกับแม่ เพราะพ่อกับแม่คือคนที่ร่วมทำให้มีลูกขึ้นมา การเลี้ยงลูกจึงเป็นหน้าที่ของพ่อและแม่เท่าๆกัน
กฎทองของความเป็นพ่อ
- อย่าคิดว่าหน้าที่เลี้ยงดูลูกเป็นของแม่แต่ผู้เดียว
- อย่าทดแทนเวลา หรือแสดงความรักด้วยวัตถุ สิ่งของแต่ควรให้สิ่งที่มีคุณค่าทางใจแก่ลูก ด้วยการให้เวลาและความรัก
- อย่ามีความเชื่อผิดๆ ว่า การเล่นหัวทำตัวสนิทสนมกับลูก จะทำให้ลูกเหลิง ลูกต้องการความมั่นใจในความรักที่ไม่มีเงื่อนไขของพ่อ ต้องการให้พ่อแสดงความสนใจ ใส่ใจและภาคภูมิใจในตัวเขา
- อย่ายั่วให้ลูกโกรธเพื่อความสนุกจะเป็นการปลูกฝังนิสัยขี้โมโห หงุดหงิดและเจ้าอารมณ์ให้กับลูก
- อย่าเลี้ยงลูกอย่างเผด็จการ ลูกต้องการการเลี้ยงดูแบบประชาธิปไตย เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจในตัวเอง
พ่อที่ลูกทุกคนปรารถนา
- พ่อที่พร้อมจะช่วยลูกเสมอ
- พ่อที่พร้อมจะให้กำลังใจ ให้คำปรึกษาหารือ
- พ่อที่คอยปกป้องคุ้มภัย และเป็นผู้ที่ให้ความมั่นคงในจิตใจ
- พ่อที่ทำหน้าที่ " พ่อของลูก " ด้วยความรักที่ไม่มีเงื่อนไข
ทำอย่างไรให้พ่อรู้ว่าสมาชิกในครอบครัวก็รักพ่อเหมือนกัน
ทั้งแม่และลูกต่างเป็นกำลังสำคัญในการช่วยส่งเสริมสุขภาพจิตของพ่อ ด้วยการให้ พ่อรับรู้ว่าพ่อคือบุคคลสำคัญของครอบครัว เช่น
- ไม่ลืมวันเกิดของพ่อ
- แสดงความรักความอาทรเมื่อพ่อกลับจากที่ทำงาน
- แสดงความเป็นห่วง ความคิดถึง เมื่อพ่อต้องเดินทางไกล
- รู้จักประหยัด
- ไม่ประพฤติตนนอกลู่นอกทางให้พ่อช้ำใจ ยามเรียนก็ตั้งใจเรียน
- ให้กำลังใจเมื่อพ่อกังวล ปลอบใจเมื่อพ่อมีทุกข์ อดทนและใจเย็น เมื่อหงุดหงิด
- มีอะไรก็ปรึกษาพ่อ พูดคุยกับพ่ออยู่เสมอ รับฟังเมื่อพ่อพูด
- คอยดูแล ห่วงใยในสุขภาพของพ่อ
- ช่วยพ่อทำงานในบ้านเท่าที่จะทำได้
- มีเวลาว่างสำหรับพ่อเสมอ
ข้อมูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
back
|
| |
|