|
จับนักเรียนคัดลายมือ
กทม.สนองพระราชดำรัสในหลวงที่ทรงมีพระราชประสงค์ให้คนไทยใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง จัดทำ
โครงการอนุรักษ์วัฒนธรรมทางภาษา "ลายมืองามตามแบบไทย" โดยเริ่มจากโรงเรียนในสังกัด
ไปแล้วกว่า 400 แห่ง เน้นการฝึกออกเสียงคำควบกล้ำภาษาไทย และจะจัดอบรม "ครูลายมืองาม"
เพื่อนำไปฝึกนักเรียนคัดลายมือต่อไป
ดร.ธารินทร์ สงวนเสริมศรี รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม) เปิดเผยว่า สภาพปัจจุบัน
การใช้ภาษาไทยมีความผิดเพี้ยนไปมาก ทั้งการพูดการเขียน ดังนั้น เพื่อสนองพระราชดำรัส
ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีพระราชประสงค์ให้คนไทยใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง
ไม่ผิดเพี้ยนเช่นในปัจจุบัน กทม.จึงจัดโครงการอนุรักษ์วัฒนธรรมทางภาษา "ลายมืองามตาม
แบบไทย" ขึ้น เพื่อส่งเสริมการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง
โดยกำหนดกิจกรรมให้โรงเรียนในสังกัดกทม.ทั้ง 431 โรงเรียน ดำเนินการพัฒนานักเรียน
ใน 6 กิจกรรม คือ การคัดลายมือ การออกเสียงภาษาไทยอย่างถูกต้อง การท่องบทอาขยาน และบท
ร้อยกรองที่ไพเราะในโรงเรียน การย่อความ การเรียงความและการเขียนบทร้อยกรอง
รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้นักการศึกษา โดยความร่วมมือของสำนักงานคณะกรรมการ
วัฒนธรรมแห่งชาติ ได้ดำเนินกิจกรรมสำคัญ 2 กิจกรรม คือ การจัดอบรมครูและนักเรียนตาม
แนวทาง "หมอภาษา" เน้นการฝึกฝนนักเรียนให้สามารถออกเสียงภาษาไทยได้อย่างถูกต้อง
ชัดเจน เช่น เสียง ร ล คำควบกล้ำ และตัว จ ฉ ช ฝ ฟ ถ ท ส ง ฮ เป็นต้น โดยจัดอบรมไปแล้ว
ทั้ง 431 โรงแรียน เมื่อเดือนกพ.ที่ผ่านมา และมอบหมายให้ผู้เข้ารับการอบรมนำแนวทางฯ
ไปดำเนินกิจการร้านหมอภาษาในโรงเรียน เปิดบริการฝึกอบรมการออกเสียงให้นักเรียน
อย่างทั่วถึง
กิจกรรมที่สองคือ การจัดอบรมครูโครงการลายมืองามตามแบบไทย โดยจะจัดอบรมครูโรงเรียน
ละ 1 คน ในปลายมีค.นี้ เพื่อไปฝึกนักเรียนคัดลายมืออย่างถูกต้องสวยงาม โดยคาดหวังว่าใน
ระยะเวลา 4 ปีนักเรียนในโรงเรียนสังกัดกทม.กว่า 300,000 คน จะมีลายมือที่สวยงาม เป็น
ระเบียบ อ่านง่ายและถูกต้อง
ในปีการศึกษา 2544 จะเริ่มกิจกรรมคัดลายมืองาม ตั้งแต่ ป.1 ไปจนถึงป. 6 จะพยายามเริ่ม
ที่นักเรียนตั้งแต่ป. 1 ขึ้นไป ซึ่งมีกล้ามเนื้อแข็งแรงพอสมควรแล้ว จะฝึกคัดลายมือก่อน
ซึ่งได้ศึกษามาว่าจะเริ่มต้นอย่างไรที่จะเป็นการง่ายสำหรับเด็กที่จะคัดลายมือ พบว่า เด็ก
สามารถที่จะคัดลายมือหัวกลมตัวเหลี่ยมได้ก่อน แต่ไม่ได้คัดจาก ก อาจจะคัดตัว ง น ซึ่งจะ
ง่ายก่อนไปหาตัวยาก และจะพัฒนาเด็กขึ้นไปเรื่อยๆ ให้สามารถเขียนลายมือแบบที่สวยงาม
ที่สุดของภาษาไทย คือลายมือแบบเอกลักษณ์ ซึ่งจะสอนให้เด็กระดับป.4 ป. 5 เขียนต่อไป
ดร.ธารินทร์ กล่าว
นอกจากนั้น ยังกล่าวต่อไปว่า จะมีศึกษานิเทศก์คอยติดตามผลการดำเนินโครงการดังกล่าว
ภาคเรียนละ 1-2 ครั้ง ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช) จะมีการให้เกียรติ
บัตรกับเด็กที่สามารถพูดภาษาไทยได้ชัดด้วยถ้าทดสอบผ่านจะมีประกาศนียบัตรของกทม.
รับรองด้วย และยังมีความคิดที่จะจัดกิจกรรม "หมอภาษา" ที่พิพิธภัณฑ์เด็กสวนรถไฟ ในเดือน
พค.นี้ด้วย เพื่อให้บริการกับประชาชนทั่วไปให้พูดภาษาไทยได้ถูกต้องชัดเจน
back
| |
|