- เครื่องปรับอากาศ
- ขับรถตอนกลางคืน
การวางแผนกลับไปทำงานหลังจากลาคลอด
การกลับไปทำงานต่อหลังจากลาคลอด และต้องทิ้งลูกน้อยของคุณให้อยู่ในความดูแลของผู้อื่น นับเป็นสิ่งที่ลำบากใจไม่น้อยสำหรับคุณ แต่ว่าในปัจจุบันนี้ คุณแม่ทั้งหลายส่วนมากก็มักจะทำงานนอกบ้านกันทั้งนั้น จึงนับเป็นข้อดีที่ได้รับรู้ว่าไม่ใช่คุณคนเดียวที่ตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ นี่คือคำแนะนำที่จะช่วยให้คุณรู้สึกดีขึ้น ก่อนที่คุณจะกลับไปเริ่มงานอีกครั้ง มีอยู่ 2-3 เรื่องที่คุณสามารถจะทำได้เพื่อให้การกลับไป ทำงานหลังจากลาคลอดของคุณเป็น ไปอย่างราบรื่นเท่าที่จะเป็นไปได้

1) ติดต่อกับเพื่อนร่วมงานสม่ำเสมอ
เป็นความคิดที่ดีในการติดต่อกับเพื่อน ร่วมงานอย่างสม่ำเสมอไม่ว่าจะเป็นเจ้านาย หรือเพื่อนร่วมงานระหว่างที่คุณลาคลอด เพื่อคุณจะได้ทราบข่าวคราวการเปลี่ยนแปลงด้านบุคลากร หรือแผนงานของบริษัทในอนาคตอันใกล้ พาลูกไปแวะทักทายเพื่อนร่วมงานบ้าง (ถ้าเป็นไปได้) หรือโทรศัพท์ไปคุยเป็นครั้งคราว

2) หาความรู้เพิ่มเติม
ถ้าการกลับไปเริ่มงานใหม่ของคุณเป็นไปหลังจากที่คุณลาคลอด 3 เดือนเต็ม (90 วัน) คุณอาจวิตกกังวลเพิ่มอีกข้อ คือรู้สึกสูญเสียความเชื่อมั่นในตัวเอง และความเชื่อมั่นในความสามารถของคุณที่จะทำงาน ให้ประสบความสำเร็จ ทั้งนี้เพราะตลอดเวลาที่ ผ่านมาคุณมัวแต่ยุ่งอยู่กับการเปลี่ยนผ้าอ้อม, อาบน้ำ สระผมลูก ให้นมลูก จิปาถะ สิ่งหนึ่งที่ช่วยคุณได้คือ พยายามหาความรู้เพิ่มเติม เช่นติดตามความเคลื่อนไหวของธุรกิจ จากนสพ.ธุรกิจ หรือฟังรายการวิทยู, ดูทีวีที่ให้ความรู้ด้านธุรกิจ หรือข่าวคราวที่เป็นประโยชน์

3) ยืดหยุ่นการกลับไปเริ่มงาน
นายจ้างบางรายอาจเสนอให้คุณกลับมาทำงานเป็นช่วงๆ เช่น 2-3 ชั่วโมงต่อวันก่อนที่จะเริ่มงานประจำเต็มเวลา เป็นการดีถ้าคุณรับข้อเสนอนี้ เป็นการปรับเวลาระหว่างคุณกับลูก หรือขอทำงาน part-time ประมาณ 1-2 อาทิตย์ แต่ทั้งนี้คุณต้องแจ้งให้นายจ้างทราบล่วงหน้าและ ได้รับการอนุมัติถึงวันที่คุณจะกลับมาเริ่มงานอีกครั้ง

4) จัดตารางเวลาให้พร้อม
เมื่อใกล้ถึงเวลาที่คุณต้องกลับมาเริ่มงานอีกครั้ง คุณควรวางแผนในการจัดตารางเวลาของชีวิตประจำวันกับคู่ของคุณให้ชัดเจน ตกลงกันว่าใครจะเป็นผู้ไปรับ-ส่งลูกของคุณถ้าคุณฝากลูกไว้ที่สถานรับเลี้ยงเด็ก และควรเช็คกันล่วงหน้าเพื่อป้องกันการเขาใจผิดคิดว่าอีกคนจะไปรับลูก นอกจากนั้นควรวางแผนว่าใครจะรับผิดชอบในกิจกรรมอะไร วันใดบ้าง รวมทั้งใครจะพาลูกไปฉีดวัคซีน หรือตรวจสุขภาพเป็นระยะๆ ถ้าหากคุณทำงานนอกบ้านด้วยกันทั้งคู่ หรือแม้แต่การพูดคุยกันว่า ใครจะผลัดกันตื่นขึ้นมาดูแลลูก, ชงนม (ถ้าคุณให้นมผสม) ในคืนไหน อย่างน้อยคุณจะได้นอนหลับสบายตลอดคืนเว้นคืน ซึ่งจะช่วยให้คุณเหนื่อยน้อยลงจากการต้องทำงานทั้งวัน (คุณพ่ออ่านแล้วคงไม่ว่ากันนะคะ การเลี้ยงลูกเป็นงานที่ต้องช่วยกันทั้งสองฝ่ายค่ะ)

5) การจัดการกับปัญหาฉุกเฉิน
ไม่ว่าคุณจะวางแผนไว้ล่วงหน้าอย่างดีประการใด อาจจะต้องมีเหตุการณ์บางอย่างที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นได้ เช่น ความเจ็บป่วย คุณควรจดเบอร์โทรศัพท์ที่จำเป็น เช่น เบอร์โทรศัพท์ที่ทำงาน, เบอร์โทร.หมอเด็กประจำตัวลูกคุณ, หมอฟัน, รพ.ที่ใกล้ที่สุดกับบ้านของคุณ, รวมทั้งเบอร์เพื่อนฝูง ญาติพี่น้องที่อยู่ใกล้บ้านคุณซึ่งสามารถที่จะมาช่วยดูแล ลูกคุณในช่วงฉุกเฉินหากคุณติดงานหรือยังมาไม่ถึง ควรติดเบอร์เหล่านี้ไว้ในที่เห็นได้ชัด เช่นใกล้โทรศัพท์ หรือหน้าตู้เย็น

6) ความกังวลเรื่องอาหารการกินของลูก
การวางแผนเรื่องอาหารสำหรับลูกคุณนั้น ขึ้นอยู่กับอายุและการพัฒนาของลูกคุณในแต่ละช่วงกล่าวคือ หากลูกคุณอยู่ในระยะให้นมแม่ และคุณต้องการให้นมแม่ต่อไป คุณอาจจะต้องปั๊มนมแม่ขณะอยู่ที่ทำงาน ฉะนั้นควรลงทุนซื้ออุปกรณ์ปั๊มนมที่มีประสิทธิภาพ หากคุณไม่มีห้องทำงานส่วนตัวเฉพาะ ลองติดต่อแผนก HR/Admin.เพื่อขอใช้ห้องที่ค่อนข้าง จะให้ความส่วนตัวได้ เช่น ห้องพยาบาล (ถ้าบริษัทคุณมี) หรือห้องประชุมเล็กๆ ที่ยังไม่ใครใช้และสามารถล็อคได้ บอก Admin. หรือผู้ที่ดูแลห้องเหล่านี้ว่า คุณต้องการใช้ห้องนี้ไม่เกิน 30 นาที และทุกๆ 3 ชั่วโมง เพื่อคุณจะได้ไม่ต้องกังวลว่าจะมีใครได้ยินคุณปั๊มนมขณะอยู่ในห้องน้ำ แต่ถ้าคุณไม่สามารถหาห้องได้จริงๆ ล่ะก็ คงต้องพึ่งพาห้องน้ำนั่นล่ะค่ะ เพียงแต่ต้องล้างมือให้สะอาดก่อนและหลังการ ปั๊มนมทุกครั้ง
หากคุณให้ลูกทานนมแม่และนมผสม (นมขวด) คุณควรวางแผนแต่เนิ่นๆ โดยการให้นมแม่สลับกับนมขวดประมาณ 2-3 อาทิตย์ก่อนกลับมาทำงาน จะเป็นการให้โอกาสลูกคุณในการปรับตัวด้วยเช่นกัน
อาหารเสริม
กรณีนี้อาจเกิดกับคุณที่ลาคลอด 90 วัน และลาเพิ่มอีก 45 วัน (โดยไม่ได้รับเงินเดือนแต่คุณต้องมีใบรับรองแพทย์ยืนยันในการลาเพิ่ม) คุณจะต้องวางแผนการให้อาหารเสริมกับผู้ที่ดูแลลูกของคุณ โดยอาจเขียนโน้ตให้ชัดเจนว่า ลูกคุณจะทานอะไร, มากน้อยแค่ไหน, เวลาใด และลูกคุณชอบหรือไม่ชอบอะไร ถ้าคุณต้องการควบคุมให้มากกว่านี้ คุณควรเตรียมอาหารเสริมด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นอาหารเสริมที่มีขายตามซุปเปอร์มาร์เก็ต หรือชนิดที่คุณทำเอง

7) บุคลิกภายนอกของคุณ
ก่อนที่คุณจะกลับมาทำงาน ควรสำรวจตู้เสื้อผ้าของคุณ เพื่อเช็คดูว่าเสื้อผ้าคุณยังเรียบร้อยดีหรือไม่ กระดุมครบทุกเม็ดหรือไม่ มีรอยปริแยกตรงไหน ถ้ามีควรจัดการซ่อมแซมให้เรียบร้อย, เสื้อผ้า - ควรซักรีดหรือซักแห้ง, รองเท้า - ถ้าสึกหรอก็นำไปซ่อมให้ดูดี ถ้าลองสวมรองเท้าแล้วรู้สึกคับไป ควรซื้อใหม่ 1-2 คู่ ฯลฯ หวังว่านี่จะช่วยให้คุณหายตื่นตกใจและ ช่วยเรียกความมั่นใจของคุณให้กลับมาอีก ครั้งหลังจากที่คุณหยุดงานเป็นเวลานาน

8) เมื่อคุณกลับมาทำงาน
อย่าคาดหวังว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องกลับมาราบรื่นเหมือนเดิมในทันที คุณต้องปรับตัวให้เข้ากับงานหนักและความเคยชินที่จะต้องอยู่ห่างลูกคุณตลอดวัน

9) ขอให้ลดความวิตกกังวลลงบ้าง
ผู้ที่ดูแลลูกแทนคุณจะเข้าใจหากคุณต้องการโทร. กลับไปเช็คลูกคุณในตอนกลางวันหรือหลายครั้ง แต่หลังจาก 3-4 อาทิตย์แรกผ่านไปคุณควรพยายามลดการโทร.ลง เพื่อแสดงว่าคุณไว้ใจขึ้น อาจเป็นวันละ 1-2 ครั้ง ในการถามว่าลูกคุณเป็นอย่างไรบ้าง

10) รับมือกับความเหน็ดเหนื่อย
ความเหน็ดเหนื่อยจะเป็นศัตรูตัวร้ายกาจของคุณเลยทีเดียวในช่วง 2-3 เดือนแรกที่กลับไปทำงาน คุณควรเข้านอนแต่หัวค่ำ, จัดลำดับความสำคัญของงาน, มอบหมายงานให้ลูกน้องหรือผู้อ่านทำบ้าง ให้เวลาสำหรับตัวเองได้พักผ่อนบ้าง เช่น นอนแช่น้ำอุ่น, อ่านหนังสือที่อยากอ่าน

หวังว่าวิธีต่างๆ ที่นำเสนอไปนั้นคงจะช่วยให้คุณลดความวิตกกังวลลงได้บ้างนะคะ หากคุณมีเทคนิคที่ต้องการแชร์ให้คุณแม่ท่านอื่นๆ ได้รับทราบ หรืออยากเขียนเล่าถึงความรู้สึกเป็นกังวลเมื่อคุณต้องกลับไปทำงาน ส่ง E-mail มาคุยกันได้นะคะ

สำหรับคุณที่กำลังจะกลับไปทำงานอีกครั้งหลังจากลาคลอด ขอให้โชคดีกับการกลับไปเริ่มงานอีกครั้งค่ะ!





visit our sponsor
visit our sponsor


Home | ข่าวสุขภาพ | การตั้งครรภ์-การคลอด | การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ | ทารกแรกเกิด - ๑ ขวบ
เด็กวัย ๑-๕ ขวบ | Working Mom | การเงินในครอบครัว | สาระน่ารู้ภายในบ้าน | Dad's Corner


maeaom@hotmail.com
Thaiparents.com 2000
All rights reserved