Poj
visit our sponsor
visit our sponsor
Ploy











ชีวิตและสุขภาพ


โรคไข้เลือดออก




โรคไข้เลือดออก เป็นโรคติดเชื้อที่พบบ่อยในเด็กที่มีอายุระหว่าง 2 - 10 ปี โรคนี้มักระบาดในฤดูฝน ความรุนแรงของโรค และอาจทำให้ตายได้ คือ ระยะช็อค และเลือดออก ซึ่งอาจเกิดขึ้นเมื่อเข้าสู่ระยะไข้ลด ดังนั้น ผู้ปกครองหรือพ่อแม่ต้องเอาใจใส่ และมีความรู้ในการดูแลบุตรหลานของท่านอย่างดี


สาเหตุ

เกิดจากเชื้อไวรัส 2 ชนิด คือ เด็งกี่ กับ ชิกุนคุนยา โดยมียุงลาย เป็นพาหะนำเชื้อไข้เลือดออก และออกหากินในเวลากลางวัน ยุงลายชนิดนี้ ชอบเพาะพันธุ์ตามแหล่งน้ำนิ่งๆ ที่อยู่ใต้ตุ่มน้ำ กระป๋อง กะลา และหลุมที่มีน้ำขัง หรือจานรองขาตู้กับข้าว ฯลฯ เราพบว่า ไข้เลือดออกที่มีอาการรุนแรง หรือช็อคจะเกิดจากเชื้อไวรัสเด็งกี่


อาการและอาการแสดง

ระยะที่ 1: ระยะไข้สูง

  • ไข้สูงตลอดเวลา (39 - 40 องศาเซลเซียส)
  • หน้าแดง ตาแดง ไอ เจ็บคอ
  • ปวดศีรษะ กระหายน้ำ
  • ซึม เบื่ออาหาร และอาจปวดท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่ หรือชายโครงขวา
  • มีผื่นแดงขึ้น (ไม่คัน) ในวันที่ 3 ของไข้ ตามแขนขา ลำตัว รักแร้ เพดานปาก กระพุ้งแก้มและลิ้นไก่ ผื่นนี้อาจมีจุดเลือดออกเป็นจุดแดงเล็กๆ

    **ระยะที่ 1 ใช้เวลา 4 - 7 วัน ถ้าอาการไม่รุนแรง ไข้ก็จะค่อยๆ ลดลง และเด็กจะแจ่มใสขึ้น

    ระยะที่ 2 : ระยะช็อคและมีเลือดออก

    จะเกิดขึ้นในช่วงไข้ลด ประมาณวันที่ 3 - 7 ของโรค
  • พบอาการปวดท้องมากขึ้น กดเจ็บเล็กน้อยตรงใต้ชายโครงขวา
  • ตัวเย็น ซึม เหงื่อออกตามตัว
  • ปัสสาวะน้อย
  • ผู้ป่วยกระวนกระวาย และอาจมีจุดแดงๆ เหมือนมีเลือดออกตามผิวหนัง มีเลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือด หรือสีกาแฟ ถ่ายอุจจาระสีดำ

    **ระยะนี้ ใช้เวลา 24 - 72 ชั่วโมง ถ้าแพทย์สามารถแก้ไขได้ทัน ผู้ป่วยจะดีขึ้น และเข้าสู่ระยะที่ 3

    ระยะที่ 3 : ระยะฟื้นตัว

    เด็กจะเริ่มอยากอาหาร ร่างกายจะฟื้นตัวได้เร็วจนเข้าสู่ภาวะปกติ ตลอดระยะเวลาของโรค มักไม่เกิน 9 วัน ถ้าอาการไม่รุนแรงจะใช้เวลาเพียง 3 - 4 วัน ผู้ป่วยอาการจะดีขึ้นได้เอง


    การป้องกัน

    1. ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เช่น - ปิดฝาตุ่ม - ใส่ยาฆ่าแมลงในน้ำหล่อขาตู้กับข้าว - ทำลายกระป๋อง กะลา หรือยางรถที่มีน้ำขังอยู่

    2 เด็กที่นอนกลางวันควรนอนกางมุ้ง หรือมีมุ้งครอบ


    การดูแล

    1 ระยะไข้สูง ควรเช็ดตัวลดไข้, ให้ดื่มน้ำมากๆ

    2 ห้ามไม่ให้ยาลดไข้แอสไพริน เพราะจะทำให้เลือดออกมากขึ้น ควรให้พาราเซตามอลเท่านั้น

    3 ดูแลให้อาหาร ควรเป็นอาหารอ่อน พวกข้าวต้ม นม น้ำหวาน หรือน้ำผลไม้

    4 ให้ดื่มน้ำมากๆ

    5 เฝ้าดูแลอาการอย่างใกล้ชิด


    ถ้าพบอาการต่อไปนี้ ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที

    - ปวดท้องกระสับกระส่าย ซึมมาก - ปวดท้องบริเวณยอดอก หรือลิ้นปี่ - อาเจียนมากขึ้น รับประทานอาหาร, น้ำไม่ได้ หรือได้น้อยมาก - มีเลือดออก เช่น เลือดกำเดา อาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายอุจจาระเป็นเลือด หรือถ่ายดำ


    ขอย้ำ

    **ผู้ป่วยไข้เลือดออก จะมีอาการรุนแรงที่สุด ในวันที่ไข้เริ่มลดลง ต่างจากโรคติดเชื้ออื่นๆ ที่ผู้ป่วยมักมีอาการดีขึ้นในวันที่ไข้ลดลง**


    **ขณะนี้ยังไม่วัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก**



    ข้อมูล: คณะแพทยศาสตร์ ฝ่ายบริการพยาบาล โรงพยาบาลสงขลานครินทร์




    back






    Home | ข่าวสุขภาพ | การตั้งครรภ์-การคลอด | การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ | ทารกแรกเกิด - ๑ ขวบ
    เด็กวัย ๑-๕ ขวบ | Working Mom | การเงินในครอบครัว | สาระน่ารู้ภายในบ้าน | Dad's Corner


    maeaom@hotmail.com
    Thaiparents.com 2000
    All rights reserved